6 เรื่องที่ต้องรู้ ก่อนปลูกไม้ด่าง

ไม้ด่าง

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 มีรายงานข่าวว่ามีสาวน้อยมือเทพคนหนึ่งปลูกออดิบจันทร์ฉาย ที่เป็นไม้ใบด่างขายที่ราคา 555,555 บาท หรือเมื่อหลายเดือนก่อนที่มีการขายกล้วยใบด่างราคาหลายล้านบาท ทำให้หลายท่านอาจเกิดความสงสัยว่า “ไม้ด่าง” (Variegated Plants) มันพิเศษกว่าพืชทั่วไปอย่างไร? ทำไมถึงเป็นที่นิยมกันมากขึ้น? โดยที่บางคนถึงขนาดลงทุนไปซื้อเมล็ดไม้ใบด่างมาเพาะ แต่ก็ไม่เห็นจะได้ใบด่างแบบที่คนขายบอกเลย ดังนั้นวันนี้ผักอวบจะพาทุกท่านไปรู้จักกับไม้ด่างหรือพืชใบด่างให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งผักอวบได้รวบรวมมาให้เป็น 6 เรื่องที่ควรรู้ก่อนที่จะเริ่มปลูกไม้ด่างกันครับ

 

1. ลักษณะของพืชใบด่างเป็นอย่างไร?

“ไม้ด่าง” หรือ “พืชใบด่าง” จัดว่าเป็นพืชที่หาได้ยาก เนื่องจากเป็นพืชที่มีสีของใบแตกต่างจากสีธรรมชาติที่ควรจะเป็น โดยลักษณะของใบด่างของพืชนั้นเกิดขึ้นได้หลายแบบทั้งแบบเป็นลายเส้น แบบเป็นเสี้ยว หรือด่างบางส่วน โดยธรรมชาติแล้วใบของต้นไม้ส่วนใหญ่จะมีสีสันที่แตกต่างกันไป เนื่องจากรงควัตถุที่พบในใบไม้แต่ละชนิดจะทำการดูดซับแสงสีต่าง ๆ และสะท้อนแสงที่ไม่ได้ดูดซับออกมา ซึ่งสีของแสงที่ไม่ถูกดูดซับ ก็คือ สีของใบที่เราเห็นนั่นเอง ซึ่งรงควัตถุที่พบในพืชส่วนใหญ่จะมีดังนี้ครับ คือ

  • คลอโรฟิลล์ (Chlorophylls) เป็นเม็ดสีหลักในพืช มีทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ คลอโรฟิลล์ เอ บี ซี และ ดี โดยที่คลอโรฟิลล์ เอ ให้สีเขียวเข้ม คลอโรฟิลล์ บี ให้สีเขียวอ่อน คลอโรฟิลล์ ซี ให้สีส้ม และ คลอโรฟิลล์ ดี ให้สีน้ำตาล
  • แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) รงควัตถุสีเหลือง ส้ม แดง และส้ม-แดง ที่พบได้ทั่วไปในพืช แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มย่อย คือ แคโรทีน (Carotene) ซึ่งเป็นรงควัตถุที่ให้สีส้ม หรือส้ม-แดง และ แซนโทฟิลล์ (Xanthophyll) ที่เป็นรงควัตถุที่ให้สีเหลือง หรือส้ม-เหลือง นั่นเองครับ
  • บีตาเลน (ฺBetalains) เป็นรงควัตถุให้สีที่พบตามธรรมชาติในพืชบางชนิด แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ บีตาไซยานิน (Betacyanin) ที่ให้สีแดง-ม่วง และบีตาแซนทิน (Betaxanthin) ที่ให้สีเหลืองและส้ม
  • แอนโธไซยานิน (Anthocyanins) เป็นเม็ดสีฟลาโวนอยด์ที่ละลายน้ำได้ ซึ่งมีสีแดง-สีน้ำเงิน

ซึ่งการที่พืชมีใบด่างเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตัวอย่างเช่น การที่รงควัตถุหรือเม็ดสีในบริเวณที่ด่างเกิดความผิดปกติแทนที่จะเป็นสีตามธรรมชาติ กลับกลายเป็นสีที่แตกต่างไปเนื่องจากการขาดแสง โดยใบด่างตามธรรมชาติของต้นไม้นั้นถือว่าเป็นยีนด้อยที่เกิดขึ้นได้ยาก และถึงแม้จะเกิดขึ้นก็ไม่ใช่ตัวการันตีว่าต้นไม้ของเราจะมีสีสันที่สวยงามครับ แต่อย่างไรก็ตามหากต้นไม้ของเราเกิดใบด่างขึ้นแล้ว ต้นลูกที่เกิดมาใหม่จะมีโอกาสเกิดใบด่างตามต้นพันธุ์ในอัตราที่สูงครับ

สีของพืช

ภาพจาก: https://menloparkart.wordpress.com/grade-4-2/why-leaves-change-color/

 

2. ทำไมราคาถึงแพง?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นครับว่าโอกาสในการเกิดไม้ใบด่างตามธรรมชาตินั้นต่ำมาก ๆ และในโอกาสที่ต่ำเหล่านั้นก็ยิ่งต่ำไปอีกเมื่อมีปัจจัยด้านความสวยงามเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะไม่ใช่ว่าไม้ด่างทุกต้นจะมีราคาแพงเสมอไป ราคาของไม้ด่างนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความสวยของลายด่าง ความยาก-ง่ายในการขยายพันธุ์ กระแสที่คนกำลังนิยมในขณะนั้น รวมถึงการที่ดาราดังหลายท่านลงรูปคู่ไม้ด่างในช่องทางต่าง ๆ ทำให้ไม้ด่างเริ่มเป็นที่หมายปองของนักสะสมทั้งหลายนั่นเองครับ ซึ่งสำหรับบางคนอาจจะมองว่าราคาสูงเกินเหตุ ซื้อกันไปได้ยังไง? คำตอบของคำถามนี้น่าจะเป็น “ความชอบ” ส่วนบุคคลครับ เพราะคนที่ชอบอาจจะมองว่าไม่แพงก็ได้ครับ แต่อย่างไรก็ตามไม้ด่างบางประเภทที่มีราคาสูงอาจเกิดจากการ “ปั่นราคา” กันภายในตลาดต้นไม้ เพื่อที่จะได้ขายเมล็ดพันธุ์ในราคาที่สูงให้กับคนที่อยากปลูกครับ

 

ราคาไม้ด่าง

ภาพจาก: https://www.bangkokbiznews.com/business/962818

 

3. สาเหตุของการเกิดใบด่าง

ใบด่างของพืชเกิดได้หลายสาเหตุทั้งจากปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้ และปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ครับ ผักอวบสรุปมาเป็น 5 ข้อ เราไปดูกันเลยดีกว่า

    • ขาดแสง – การขาดแสงจะทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงเพื่อเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานเคมี ทำให้เม็ดสีในพืชเกิดความผิดปกติทำให้เกิดใบด่างขึ้นนั่นเอง สังเกตได้ง่าย ๆ จากการที่เรานำต้นไม้ปกติไปวางในที่มืด ผ่านไปไม่กี่วันใบก็จะเป็นสีขาวซีดและอ่อนแอ ซึ่งหากปราศจากแสง พืชจะยังคงเจริญเติบโตต่อไปได้จนกว่าอาหารที่พืชสะสมไว้นั้นจะหมด ซึ่งการที่เราเลี้ยงพืชไว้ในความมืดนี้จะทำให้พืชเกิดอาการที่เรียกว่า “Etiolation” หรือการ “หิวแสง” นั่นเองครับ
    • ขาดธาตุอาหาร  – ธาตุอาหารของพืชแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรอง ซึ่งการที่พืชได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ พืชก็จะแสดงอาการขาดธาตุโดยเริ่มที่ใบก่อนอย่างแรก บางใบก็จะมีสีซีด ออกเป็นใบด่าง ๆ ธาตุอาหารบางตัวมีผลต่อการสร้างเม็ดสีของใบ โดยหากต้นไม้ขาดแมกนีเซียม ใบก็จะเป็นสีเหลืองแต่เส้นใยยังเขียวอยู่ หรือหากขาดกำมะถันหรือฟอสฟอรัส จะเกิดใบด่างเหลืองขึ้นทั้งใบ ซึ่งอาการจะหายไปหากได้รับธาตุอาหารในปริมาณที่เพียงพอครับ
    • เนื้อเยื่อใบมีอากาศมาก – การที่เนื้อเยื่อใบมีอากาศมากส่งผลให้เมื่อแสงแดดไปตกกระทบตรงใบจะเกิดการหักเหของแสง ทำให้ใบเป็นสีเทาเงิน พบมากในป่าธรรมชาติ อาการดังกล่าวจะเป็นถาวรไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่สามารถจำแนกเป็นพันธุ์อื่นได้ เช่น พลูลงยา แนบอุรา หรือคล้าบางชนิด  รูปแบบการสะท้อนแสงอีกรูปแบบหนึ่งที่พบว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ คือ จะเกิดการสะท้อนแสงขึ้นตามเส้นใบ ทำให้เส้นใบมีสีที่แตกต่างจากธรรมชาติ ซึ่งโดยส่วนมากพบได้ในพืชตระกูล Aroid เช่น หน้าวัวใบหัวใจ, แก้วสารพัดนึก และฟิโลรางเงินครับ
    • ความผิดปกติทางพันธุกรรม – เกิดจากปัจจัยภายนอกที่กระทบโครงสร้างทางพันธุกรรมของต้นไม้ เช่น สารเคมีหรือสารกำมันตภาพรังสี การฉายรังสีจะทำให้เซลล์พืชเกิดความผิดปกติในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงหรือกระบวนการอื่นๆ ยกตัวอย่าง เช่น การฉายรังสีแกมมาในเบญจมาศ (Dendranthema grandiflora T.) เมื่อเราใช้รังสีแกมมาที่ 200-300 gray จะทำให้ใบและดอกของเบญจมาศเกิดลายด่างขึ้น สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะรังสีแกมมาจะส่งผลให้ปากใบในเซลล์พืชไม่ทำงาน การคายน้ำ การหายใจ และ การสังเคราะห์ด้วยแสง จะเกิดขึ้นได้น้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย ทำให้สีของพืชจะเปลี่ยนแปลงไปโดยอาจเป็นสีที่ซีดลงหรือด่างเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า ตัวต้นเบญจมาศที่เป็นต้นแม่อาจจะเกิดการชักนำให้ต้นลูกมีอาการใบด่างหรือดอกด่างได้ แต่โอกาสเกิดมีเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำ เนื่องจากถ้าพืชอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมพืชก็จะไม่เกิดใบหรือดอกด่าง มีข้อสังเกตว่าในประเทศญี่ปุ่นพบไม้ใบด่างจำนวนมาก ทำให้บางคนสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะผลพวงของกัมมันตภาพรังสีของระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเองครับนอกจากการเกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมแบบธรรมชาติแล้ว ในปัจจุบันมีการตัดแต่งพันธุ์ไม้เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ที่มีความทนทานหรือมีคุณลักษณะที่โดดเด่นกว่าสายพันธุ์เดิม แต่ไม่สามารถควบคุมลักษณะให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ โดยต้นแม่พันธุ์นั้นจะมีความสำคัญในการควบคุมลักษณะด่างได้ดีกว่าต้นพ่อพันธุ์ดังรายละเอียดดังนี้
      • แม่กิ่งใบเขียว+พ่อกิ่งใบเผือก ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเขียว
      • แม่กิ่งใบเขียว +พ่อกิ่งใบด่าง ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเขียว
      • แม่กิ่งใบเผือก + พ่อกิ่งใบเขียว ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเผือก
      • แม่กิ่งใบเผือก + พ่อกิ่งใบเผือก ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเผือก
      • แม่กิ่งใบเผือก + พ่อกิ่งใบด่าง ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเผือก
      • แม่กิ่งใบด่าง + พ่อกิ่งใบเขียว ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีทั้งใบเขียว เผือก ด่าง
      • แม่กิ่งใบด่าง + พ่อกิ่งใบเผือก ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีทั้งใบเขียว เผือก ด่าง
      • แม่กิ่งใบด่าง + พ่อกิ่งใบด่าง ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีทั้งใบเขียว เผือก ด่าง
    • เกิดจากโรค – หากอาการของต้นไม้ในสวนมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นใบมีลายสีด่างหรือสีเขียวไม่สม่ำเสมอกัน เล็กหรือย่น มีอาการหงิกงอผิดจากรูปทรงเดิมและไม่ติดผล ลำต้นแคระแกร็น มีกิ่งก้านสั้นกว่าปกติ อาจเป็นอาการของโรคใบด่างในต้นไม้ หรือ Mosaic Virus ซึ่งมาจากอุปกรณ์ทางการเกษตร การนำท่อนพันธุ์จากด่างประเทศเข้ามาปลูก ซึ่งอาการโรคใบด่างนั้นเกิดจากไวรัสเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อและสารคลอโรฟิลล์จนส่วนต่างๆ ของต้นมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติมักพบมากในมะละกอ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ มันฝรั่ง หากตัดแต่งด้วยกรรไกรหรืออุปกรณ์เดียวกันก็สามารถแพร่ไปสู่ต้นอื่นได้  ส่วนในไม้ประดับบางชนิดที่มีสีหลากหลายในใบอาจเกิดจากไวรัส เช่น Mosaic Virus แม้ว่าไวรัสเหล่านี้จะไม่เป็นที่ต้องการในพืชปกติ แต่บางครั้งผลจาก Mosaic Virus ก็เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาและสามารถทำซ้ำได้ในพวกไม้ประดับ เช่น พืชสายพันธุ์ Hosta ที่ Mosaic Virus ทำให้เกิดความหลากหลายของสีใบ ส่งผลให้พืชมีความสวยงามมากขึ้นนั่นเองครับ

 

พืชสายพันธุ์ Hosta ที่เกิดใบด่างเนื่องจาก Mosaic Virus

 

4. การขยายพันธุ์พืชใบด่าง

ทำได้หลัก ๆ ด้วย 3 วิธีดังนี้

  • การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ – โดยนำชิ้นส่วนของพืชใบด่าง เช่น ลำต้น หรือ ใบ นำไปเพาะเลี้ยงด้วยอาหารเลี้ยงเชื้อที่ใส่ในขวดเลี้ยงเชื้อ วิธีนี้มีโอกาสที่จะเกิดใบด่างขึ้นมากพอสมควรคิดเป็น 60-70% แต่สิ่งที่สำคัญของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็คือ ต้องคอยดูแลต้นพืชให้ดีทั้งในตอนที่อยู่ในขวดเพาะเลี้ยงเชื้อและตอนที่นำมาเพาะกับกระถางปลูกด้านนอก
  • การปักชำ – การปักชำนั้นจะนำต้นแม่ที่มีใบด่างมาตัดปลายกิ่งเฉียง 45 องศา แล้วนำกิ่งหรือใบที่ไม่ได้ใช้ออก ให้เหลือแค่ใบด่าง 1-2 ใบ แล้วนำไปจุ่มในน้ำยาเร่งรากแล้วรอประมาณ 15 นาที (ในกรณีที่อยากให้รากออกเร็ว) แต่ถ้าไม่มีน้ำยาเร่งรากให้นำลงไปปักในดินได้เลย จากนั้นคอยดูแล รดน้ำเช้า-เย็นเพื่อให้ได้ใบด่างที่สมบูรณ์ ตัวอย่างการปักชำใบด่างที่เราเห็นทั่วไปในท้องตลาดจะมี มอนสเตอร่าด่าง (Monstera Deliciosa borsigiana albo-variegated) และต้นเงินไหลมาด่าง (Syngonium podophyllum) วิธีนี้ถ้าต้นแม่มีความด่างที่สม่ำเสมอ ต้นที่นำไปปักชำก็จะได้พืชที่มีความด่างที่สวยงาม แต่หลักการนี้ใช้ได้กับพืชบางชนิดเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่ถ้าเป็นพืชใบด่างแต่มีลักษณะด่างไม่สม่ำเสมอ ต้นที่ทำการปักชำแล้วอาจจะไม่ได้ต้นพืชที่เป็นใบด่างเลยก็ได้
  • การเพาะเมล็ด – เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถขยายพันธุ์พืชใบด่างได้ โดยการนำเมล็ดพืชใบด่างที่มียีนพ่อแม่เป็นใบด่างเช่นเดียวกันมาเพาะเมล็ด การเพาะเมล็ดเริ่มต้นด้วยการนำดินปลูกใส่ในกระถางปลูก จากนั้นนำเมล็ดวางไว้ คอยรดน้ำเช้า-เย็น เมื่อต้นพืชเริ่มเติบโตแล้วก็ใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมให้เข้ากับชนิดของพืชนั้น ๆ เช่น มอนสเตอร่าด่าง ต้องการธาตุไนโตรเจน-ฟอสฟอรัส-โพแทสเซียมในอัตรา 3:1:2 ซึ่งต้นพืชที่เพาะนั้นส่วนมากใบจะด่างเพราะยีนต้นพ่อแม่ไม่มีความแปรปรวนมาก ทำให้การถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมที่เป็นสีใบด่างให้กับต้นลูกได้

อย่างไรก็ตามพืชบางชนิดเมื่อเกิดใบด่างขึ้นแล้วหากได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ได้รับแสงเพียงพอ หรืออยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมเนื่องจากฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป พืชก็จะกลับมาสร้างคลอโรฟิลล์ทำให้ใบพืชจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวมากขึ้น ความด่างที่มีจะค่อย ๆ หายไปนั่นเองครับ

สาเหตุของการใบด่าง (1)

 

5. การดูแลพืชใบด่าง

แน่นอนว่าพืชใบด่างย่อมต้องดูแลต่างจากพืชแบบปกติเนื่องจากเราต้องการที่จะรักษาลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ ดังนั้นผักอวบจึงนำวิธีการดูแลพืชแบบคร่าว ๆ ใช้ได้กับพืชแทบทุกชนิดมาบอกกันครับ ไปดูกันเลย

  • พืชใบด่างควรใส่ไว้ในกระถางปลูก เพราะสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายเมื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น น้ำท่วม อุณหภูมิโดยรวมสูงขึ้นผิดปกติ เกิดการระบาดของโรคและแมลง การนำพืชใบด่างไว้ในร่มจะสามารถควบคุมอุณหภูมิและแสงได้ดี
  • พืชใบด่างบางครั้งก็ควรนำมาไว้กลางแดดพักนึง เพื่อทำการสังเคราะห์ด้วยแสงหรือนำไปวางในพื้นที่ที่มีแสงแดดเพียงพอ ที่มีแสงส่องถึง เช่น หน้าต่างบ้าน เพราะการให้แสงแดดแก่พืชจะทำให้พืชเกิดความแปรปรวนน้อยลง ถ้าพืชไม่ได้รับแสงแดดเลย พืชอาจจะตายได้ โดยเฉพาะพืชที่อ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมมาก ๆ
  • การรดน้ำให้พืชใบด่างนั้น ควรรดแต่พอดีไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป
  • รักษาอุณหภูมิให้คงที่ ส่วนใหญ่พืชใบด่างมักจะปลูกกันที่อุณหภูมิประมาณ 14-30 องศาเซลเซียส หรือ 58-86 องศาฟาเรนไฮด์ ครับ

 

6. การฟื้นฟูให้พืชใบด่าง

หากเกิดกรณีที่พืชใบด่างของเราเริ่มกลับเป็นสีเขียวหรือสีตามธรรมชาติแล้วเราจะมีวิธีในการฟื้นฟูอย่างไรไปดูกันเลยครับ

  • ทำการตัดแต่งกิ่งใบที่เป็นใบสีเขียวเต็ม เพราะใบที่มีสีเขียวนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าใบด่าง ดังนั้นเราเลยต้องกำจัดใบที่ไม่ด่างทิ้งไปโดยใช้กรรไกรตัดกิ่งหรือตัดใบที่ไม่ต้องการออกไปได้เลยครับ
  • ถ้าพืชใบด่างของเราเริ่มสีเขียวที่เข้มมากขึ้นหรือใบเริ่มไม่ด่างแล้ว ควรรีบนำพืชใบด่างไปอยู่ในร่มให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงจากแสงแดดชั่วคราว เพราะเมื่อใบพืชได้รับแสงก็จะผลิตคลอโรฟิลล์ออกมา ใบก็จะเริ่มเปลี่ยนกลับไปเป็นสีเขียวตามธรรมชาติ
  • ลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลง เนื่องจากไนโตรเจนมีส่วนที่สำคัญอย่างมากในการเจริญเติบโตของพืช การลดไนโตรเจนจะช่วยทำให้พืชใบด่างของเรา ยังคงความด่างได้อยู่ครับ

 

ไม้ด่าง

 

สรุป

พืชใบด่างนับว่าเป็นพืชที่เป็นยีนด้อยเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่โอกาสเกิดนั้นเรียกได้ว่าน้อยมาก ๆ ยิ่งถ้าเป็นใบที่มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แล้วโอกาสที่เกิดนั้นพอ ๆ กับถูกหวยเลยก็ว่าได้ เนื่องจากพืชใบด่างที่มีความสวยงามมักจะมีราคาที่สูงเพื่อให้สมกับความหายากของมันนั่นเองครับ อย่างไรก็ตามเจตนาที่ผักอวบทำบทความนี้ขึ้นมาก็เพื่ออยากจะส่งมอบองค์ความรู้เรื่องพืชใบด่างให้ได้รับรู้กัน และเพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าของบุคคลที่มีเจตนาไม่ดีต้องการหลอกให้ลงทุนในการปลูกพืชใบด่างนั่นเองครับ ท้ายที่สุดนี้หวังว่าทุกท่านที่เข้ามาอ่านจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ ซึ่งหากท่านใดสนใจผักสุขภาพดีที่ต้องมีติดบ้าน(ไม่ใช่ไม้ด่างนะ)คลิกที่นี่ หรือ link ด้านล่างได้เลยนะครับ ถ้าชอบบทความสาระความรู้ด้านเกษตรแบบนี้อย่าลืมกด Like กด Share และกดติดตาม บารมีพิรุณ Plant Factory ผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วยนะครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ

Table of Contents

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *