ไม้ฟอกอากาศ vs ฝุ่น PM 2.5

ต้นไม้ฟอกอากาศ vs PM 2.5

หมอกจาง ๆ และควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้… เพลงนี้เป็นเพลงที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยเราเป็นอย่างมาก เนื่องจากการกลับมาของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่แก้ยังไงก็แก้ไม่หายเสียที ดังนั้นพวกเราที่ต้องเผชิญหน้ากับฝุ่นทั้งเวลาออกไปนอกบ้านและเวลาที่อยู่ในบ้านจะมีวิธีรับมืออย่างไรได้บ้าง วันนี้ผักอวบมีวิธีที่แสนจะง่ายดายมาแชร์กัน วิธีที่ว่าก็คือ “การปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ” นั่นเอง โดยผักอวบจะอธิบายถึงกลไกการฟอกอากาศแบบคร่าว ๆ พร้อมแนะนำต้นไม้ที่น่าสนใจให้ทุกคนไปหามาปลูกกันครับ แต่ก่อนเราจะเข้าเรื่องต้นไม้เราไปรู้จักความน่ากลัวของฝุ่น PM 2.5 แบบเจาะลึกกันสักหน่อยดีกว่า

 

PM 2.5 ภัยร้ายที่ทุกคนต้องใสใจ

ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนครับว่าฝุ่นละอองสามารถแบ่งออกเป็น 2 ขนาด ได้แก่

  1. ฝุ่นละอองขนาดใหญ่ ที่จะตกลงพื้นตามแรงโน้มถ่วงของโลก
  2. ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่สามารถลอยอยู่ในอากาศได้หลายสัปดาห์ และจะถูกทำให้ตกลงพื้นโดยฝน หรือหยดน้ำ

ซึ่งหากพูดกันตามตรงแล้วฝุ่นละอองขนาดเล็กนี่แหละที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพของมนุษย์เรา ดังนั้น หน่วยงานป้องกันสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา หรือ EPA จึงได้ทำการกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เอาไว้ โดยให้ใช้ค่า Particulate Matters (PM) เป็นเกณฑ์ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ซึ่งสามารถแบ่งตามขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ดังนี้

  1. ฝุ่นหยาบที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10)
  2. ฝุ่นละเอียดที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)
  3. ฝุ่นละเอียดที่มีขนาดเล็กมาก ไม่เกิน 0.1 ไมครอน (PM 0.1)

หลายคนอาจไม่เห็นภาพถ้าพูดเป็นไมครอน ผักอวบจึงเทียบให้ดูง่าย ๆ แบบนี้ครับ เส้นขนของมนุษย์ มีขนาดประมาณ 50-70 ไมครอน หมายความว่าพวกฝุ่นละอองขนาดเล็กเนี่ยมีขนาดเล็กกว่าเส้นขนจนตาเราแทบจะมองไม่เห็นเลยครับ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ฝุ่นเหล่านี้เป็นอันตรายต่อมนุษย์เรานั่นเอง โดยความอันตรายนั้นอยู่ในระดับที่สูงมาก เนื่องจาก หากเราสูดฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้เข้าไปจะเกิดการสะสมขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ฝุ่นหยาบจะถูกกรองโดยขนจมูกทำให้อยู่ได้แค่ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น แต่ในกรณีของ PM 2.5 และ PM0.1 ที่มีขนาดเล็กมาก จะไปสะสมอยู่ในหลอดลมและถุงลมในระบบทางเดินหายใจส่วนในเลยแหละครับ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ง่าย ๆ เลย โดยประชากรกลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก รวมถึงสัตว์เลี้ยงที่แสนน่ารักของเราด้วยครับ ซึ่งมีการวิจัยตัวหนึ่งพบว่า หากคนเราได้รับฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณเฉลี่ย 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวันแล้วล่ะก็จะเทียบเท่าได้กับการสูบบุหรี่ถึง 2.27 ม้วนต่อวันทันที

 

ต้นไม้ฟอกอากาศ vs PM 2.5

 

คำถามต่อมา คือ แล้วพวกฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้ เกิดมาจากอะไรล่ะ? คำตอบก็คือ “มนุษย์” เรานี่แหละครับ เพราะกิจกรรมที่มนุษย์ทำไม่ว่าจะเป็น การใช้ยานยนต์ในการเดินทาง การเผาสิ่งต่าง ๆ การเกิดไฟป่า การเผาหญ้า เผาอ้อย และอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดฝุ่นเหล่านี้ขึ้นนั่นเอง

 

“ต้นไม้ฟอกอากาศ” ต้นไม้ที่ควรมีทุกบ้าน

ในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 เราสามารถทำได้หลากหลายวิธีเลย นั่นคือ การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ต้องเดินทางออกนอกบ้าน หรือ การซื้อเครื่องกรองอากาศซักตัวก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่หากใครที่มีกำลังซื้อไม่เพียงพอ หรือ ไม่อยากสวมหน้ากากอนามัยตอนอยู่ในบ้านเพราะอึดอัด ผักอวบแนะนำให้ปลูก “ต้นไม้ฟอกอากาศ” ครับ นอกจากจะไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนมากแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ทั้งด้านนอกและด้านในบ้านอีกด้วย

ก่อนที่จะไปแนะนำว่ามีต้นอะไรบ้าง ผักอวบขอพูดถึงกลไกการฟอกอากาศของต้นไม้ให้ทุกคนได้เข้าใจกันก่อนครับ

กลไกการฟอกอากาศของต้นไม้ สามารถอธิบายได้ง่าย ๆ ดังนี้ คือ เมื่อพืชได้รับแสงไม่ว่าจะแสงจากดวงอาทิตย์ หรือ แสงจากไฟสังเคราะห์ จะทำให้เกิดการสังเคราะห์แสงขึ้น ถ้าความเข้มของแสงสูง ปากใบของพืชจะเปิดและคายน้ำออกมา ซึ่งเมื่อพืชคายน้ำออกมามาก ที่ปากใบของพืชจะมีอุณหภูมิที่แตกต่างกับอากาศภายนอก ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศรอบ ๆ ทำให้อากาศที่มีสารพิษไหลไปยังบริเวณรากพืชที่มีจุลินทรีย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อจากนั้นจุลินทรีย์เหล่านี้นั่นเองที่จะเปลี่ยนสารพิษที่มากับอากาศให้กลายเป็นอาหารของพืชต่อไป ด้วยกลไกนี้เองทำให้ต้นไม้ฟอกอากาศสามารถเปลี่ยนให้อากาศที่เสียเป็นอากาศที่มีความบริสุทธิ์ได้

 

ต้นไม้ฟอกอากาศ vs PM 2.5

 

มลพิษในบ้านและนอกบ้าน

หลายคนอาจะเข้าใจผิดคิดว่ามลพิษเกิดได้แน่นอกบ้านเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว คือ ไม่ว่าจะนอกบ้าน หรือในบ้านล้วนเกิดมลพิษได้ทั้งสิ้น โดยมลพิษนอกบ้านตามที่กล่าวไปในตอนแรกเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น

  1. การทำโรงงานอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องปล่อยของเสียออกมา ของเสียเหล่านี้เกิดเป็นมลพิษต่อมนุษย์อย่างรุนแรงเกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น การทำโรงงานเผาถ่านหิน การปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน
  2. การเผาไหม้ของน้ำมันจากยานยนต์ เช่น ไอเสียของรถยนต์ รถจักยานยนต์ เรือ เครื่องบิน
  3. เกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ป่า ภูเขาไฟระเบิด การกระจายของละอองเกสรดอกไม้ เกิดฝุ่นจากลมพายุ
  4. การหมักและการเน่าเปื่อยจากสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติเป็นเวลาหลายปีและจากการถับถมของขยะ

ส่วนมลพิษในบ้านสาเหตุเกิดจาก

  1. การทำอาหารภายในห้องครัวซึ่งทำให้เกิดควันขึ้นแล้วผู้ที่ประกอบอาหารก็ได้รับควันไปเต็มจึงเกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว วิธีแก้ไขคือควรเปิดระบายอากาศหรือทำปล่องดูดควันก็ช่วยได้ดี
  2. สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและกำจัดเชื้อ เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ สบู่ ยาสระผม หรือรวมไปถึงสารกำจัดแมลง บางผลิตภัณฑ์ใช้ไปแล้วปลดปล่อยอยู่ในรูปก๊าซทันที บางผลิตภัณฑ์ก็จะค่อยๆปลดปล่อยออกมาทีละน้อยๆ สารที่ปล่อยออกมานั้นเป็นสารเคมีที่อันตรายต่อสุขภาพเมื่อได้รับไประยะยาว วิธีแก้ไข พยายามเลี่ยงใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นหรือควรใช้ให้น้อยๆครั้งและใช้เสร็จเรียบร้อยควรวางไว้นอกตัวบ้าน
  3. เครื่องปรับอากาศ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่เกิดมลพิษในบ้าน เครื่องปรับอากาศจะส่งผลจากการหมุนเวียนลมจากตัวเครื่องแล้วปล่อยลมเย็นออกมาจึงเกิดฝุ่นละอองเกิดขึ้น ฝุ่นละอองเหล่านี้ก็จะส่งผลการหายใจของมนุษย์ติดขัดได้ วิธีแก้ไขคือ ควรมีการทำความสะอาดอยู่บ่อยๆครั้ง
  4. เครื่องมือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆภายในบ้านที่ทำมาจากไม้ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีถูกทำให้กันชื้นและกันแมลงด้วยกระบวนการเคมีเมื่อถูกใช้งานผ่านไปหลายๆเดือน ตัวเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้ทีจะมีการปล่อยสารฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นสารที่เป็นพิษต่อมนุษย์ ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ วิธีแก้ไขคือ เมื่อเกิดกลิ่นฉุนในตัวเฟอร์นิเจอร์ไม้ควรจัดการทิ้งทีทันที
  5. เชื้อราและเชื้อแบคทีเรียที่มาจากทุกส่วนๆในบ้านที่เกิดจากการสะสมจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่สะอาด ซึ่งอนุภาคทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรามีอนุภาคที่เล็กมาก สามารถเข้าไปร่างกายได้อย่างรวดเร็ว

จะเห็นได้ว่าการเกิดมลพิษในบ้านมาจากหลาย ๆ สาเหตุที่เราคาดไม่ถึงเลยใช่ไหมครับ ดังนั้นถึงเวลาที่ดาวเด่นอย่าง “ต้นไม้ฟอกอากาศ” กันแล้ว

 

ต้นไม้ฟอกอากาศ vs PM 2.5

 

แนะนำต้นไม้ฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งในและนอกบ้าน

ไม้ฟอกอากาศน่าปลูก (นอกบ้าน)

  1. ตะขบฝรั่ง (Jam tree , Calabura) – มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Muntingiaceae calabura L. จัดเป็นพืชในวงศ์ Muntingiaceae
    เป็นพืชที่ทนร้อนพอสมควร ทำให้เหมาะสำหรับการปลูกในประเทศไทยของเราได้เป็นอย่างดี เป็นไม้ต้นสูงประมาณ 5-8 เมตร ลักษณะใบจะมีขนปกคลุมอยู่และสามารถดูดซับฟอกอากาศได้ดี จึงลดฝุ่น PM 2.5 ได้ดี มีการออกดอกตลอดทั้งปีและสามารถนำผลไปรับประทานได้ ปลูกทีเดียวได้ 3 ประโยชน์เลยครับ ทั้ง ฟอกอากาศ กินได้ และ สวยงาม
  2. เงินไหลมา (Arrowhead Vine) – แค่ชื่อก็อยากปลูกกันแล้วใช่ไหมครับ พืชตัวนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Syngonium podophyllum อยู่ในวงศ์ Araceae เป็นพืชไม้เถาที่จะเกาะไปตามต้นไม้ใหญ่หรือตามรั้วบ้าน ความยาวของต้นสูงประมาณ 18 เมตร ลักษณะใบจะเป็นรูปหอกชัดเจน ชอบแสงรำไรไม่แรงมาก เงินไหลมาเป็นพืชที่ลดฝุ่นได้ดีมากเพราะมีความสูงและใบค่อนข้างแผ่กัน ปลูกแล้วได้ทั้งลดฝุ่น แถมอาจจะมีเงินไหลมาตามชื่อเลยก็ได้ครับ
  3. ลิ้นกระบือ (Picara) – มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Excoecaria cochinchinensis อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae เป็นพืชไม้พุ่มที่มีลักษณะสีสันที่แปลกตาเนื่องจากสีด้านบนเป็นสีเขียวส่วนด่านล่างสีของใบเป็นสีแดง มีความโดดเด่นอีกอย่างคือก้านใบมีความแน่นของอากาศอยู่มาก ทำให้แตกกิ่งใบไปได้มาก และด้วยความที่ใบมีสองสีจึงมีสารเคลือบผิวใบสูง จึงเหมาะกับการฟอกอากาศได้เช่นกัน
  4. คริสติน่า (Australian Rose Apple , Brush Cherry) – มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Syzygium austral อยู่ในวงศ์ Myrtaceae เป็นพืชไม้พุ่มและยืนต้น สูงประมาณ 13 ซม. ลักษณะใบมีสีเขียวแล้วก็จะมีใบอ่อน ๆ ที่แทงออกมาจากก้านเป็นสีส้มๆแดงๆ ด้วยความที่เป็นไม้พุ่ม สามารถนำไปวางหน้าบ้านได้ก็จะช่วยกรองมลพิษทางอากาศได้ดี วิธีการดูแลควรตัดแต่งกิ่งให้ได้ทรงที่เหมาะสม จะทำให้ดูสวยงามมากเลยครับ
  5. หอมหมื่นลี้ (Sweet Olive) – มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Osmanthus fragrans Lour. อยู่ในวงศ์ Oleaceae โดยที่หอมหมื่นลี้จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีลักษณะใบแผ่กว้าง ดอกมีสีขาวและส้ม ใบและดอกเรียงชิดกันแน่น เกาะเป็นกลุ่ม ซึ่งตัวดอกนั้นนำสามารถนำไปทำเป็นชาได้ ส่วนใบมีคุณสมบัติในการฟอกอากาศได้ดี แค่ชื่อก็กินขาดแล้วนะครับ หอมถึงหมื่นลี้ (5,000 กิโลเมตร) กันเลยทีเดียวครับ ปลูกที่ไทยหอมไกลไปถึงญีปุ่่นเลยครับ

 

ไม้ฟอกอากาศน่าปลูก (ในบ้าน)

  1. ลิ้นมังกร (Snake plant) – มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Dracaena trifasciata อยู่ในวงศ์ Asparagaceae เป็นพืชที่เหมาะสำหรับการไว้ในบ้านเป็นอย่างมาก ลักษณะพืชเป็นพืชอวบน้ำ ใบใหญ่ ชอบดินร่วนปนทราย ไม่ชอบน้ำขังมาก โดยมีการศึกษาจากหลายแหล่งว่า ลิ้นมังกร มีความสามารถในการฟอกอากาศได้ดี โดยจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงกลางคืน ซึ่งลิ้นมังกรถูกจัดเป็นสุดยอดต้นไม้ฟอกอากาศในหลาย ๆ โพลที่จัดเลยครับ
  2. ยางอินเดีย (Rubber plant, Indian Rubber Fig) – มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Ficus elastica Roxb. ex Hornem. อยู่ในวงศ์ Moraceae ประมาณปี 2019-2020 ยางอินเดียจัดเป็นพืชฟอกออากาศที่ได้รับความนิยมสูงมาก เนื่องจากยางอินเดียสามารถฟอกอากาศได้มีประสิทธิภาพสูง ตัวใบมีสีเขียวเข้มปนแดงและมีผิวมัน ใบมีลักษณะที่หนามากเช่นกัน ซึ่งผักอวบมีวิธีการดูแลใบให้เงางามมาฝากด้วย คือ หมั่นคอยเช็ดใบด้วยน้ำหมาด ๆ และคอยตัดแต่งกิ่งให้สวยงามอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ก็ได้ เครื่องฟอกอากาศจากธรรมชาติแล้วครับ
  3. พลูแฉก (Monstera) – มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Monstera deliciosa อยู่ในวงศ์ Araceae โดยที่พลูแฉกหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ มอนสเตอร่า เป็นพืชที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในวงการไม้ใบ ด้วยลักษณะใบที่เป็นหนา มีรอยแฉกตามใบ เป็นลวดลายที่สวยงามติดตาตรึงใจ ราคาของมอนสเตอร่าขึ้นอยู่กับพันธุ์แต่ละพันธุ์โดยอยู่ที่ประมาณ 600-3,000 บาท อีกหนึ่งลักษณะที่เด่นคือ สามารถฟอกอากาศและทนมลพิษทางอากาศได้ดีมาก วิธีการดูแลคือ วางในแดดรำไร ความชื้นสูง สามารถเช็ดผิวใบด้วยน้ำมันแต่ควรเช็ดใบที่มีสีเขียวแก่แล้ว เพื่อเพิ่มความเงาให้กับพืช ผักอวบแนะนำว่าจัดมอนสเตอร่าธรรมดาก็พอครับ เพราะมอนสเตอร่าด่างนั้นมีราคาที่สูงเวอร์เกินไป
  4. พลูด่าง (Golden Pothos) – มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Epipremnum aureum อยู่ในวงศ์ Araceae พูดถึงพลูแฉกไปแล้วไม่พูดถึงพลูด่างคงจะไม่ได้ เพราะพลูด่างจัดได้เป็นทั้งไม้ประดับใบและไม้เลื้อย มีลักษณะใบที่แผ่กว้างคล้ายกับรูปหัวใจ มีผิวใบมัน ราคาของพลูด่างจะแตกต่างไปตามพันธุ์และลวดลาย ด้วยความมันของผิวใบนี้เองทำให้ พลูด่าง เหมาะสมสำหรับการฟอกอากาศเป็นอย่างมาก หากใครที่สนใจอยากปลูกพลูด่าง ต้องรู้ด้วยครับว่าพลูด่างชอบสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูงและมีแสงแดดรำไรครับ
  5. ซานาดู (Xanadu) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Thaumatophyllum xanadu อยู่ในวงศ์ Araceae ซานาดูเป็นอีกหนึ่งพืชที่เหมาะสมสำหรับการปลูกภายในอาคารบ้านเรือนครับ โดยซานาดูจะมีลักษณะใบแผ่กว้างและใบหยิกซึ่งมองแล้วดูโดดเด่น พื้นผิวใบมีความมัน ก้านใบมีความหนามาก ชอบแสงแดดรำไรเช่นเดียวกับพลูด่างนั่นเอง

 

ต้นไม้ฟอกอากาศ vs PM 2.5

 

นอกจากต้นไม้ที่ผักอวบนำมาให้ดูแล้วยังมีต้นไม้อีกเยอะมาก ๆ เลยที่สามารถฟอกอากาศได้ดี แต่สังเกตไหมครับว่าต้นไม้ที่สามารถดักจับฝุ่นและฟอกอากาศได้ดีจะมีลักษณะที่คล้าย ๆ กัน คือ ใบมีลักษณะที่หนา ขรุขระ มีขนที่ใบ และมีร่องใบที่ลึกครับ อธิบายในทางวิทยาศาสตร์ได้แบบนี้ครับ คือ ฝุ่น PM 2.5 จะไปเกาะแน่นกับผิวใบของไม้ฟอกอากาศ โดยที่ผิวใบนี้เองจะมีสารคล้ายขี้ผึ้งห่อหุ้มอยู่บาง ๆ เรียกว่า คิวติเคิล (cuticle) โดยสารนี้มีลักษณะค่อนข้างแห้ง และไม่ดูดน้ำ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการป้องกันไม่ให้น้ำระเหยออกไปจากใบได้โดยง่ายทำให้ฝุ่นเกาะติดแน่นทนนาน แน่นอนว่านอกจากฝุ่นแล้วมลพิษทั้งจากนอกบ้านและในบ้านยังก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ (Antioxidant) อีกด้วยนะ ซึ่งในตอนนี้บารมีพิรุณ Plant Factory ของเรากำลังมีการวิจัยการเพาะพันธุ์ต้นไม้ฟอกอากาศในโรงงานผลิตพืชของเราอยู่ อย่าลืมติดตามกันนะครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับกับต้นไม้ฟอกอากาศ ใครอยากหามาฟอกอากาศลองดูตามตลาดต้นไม้ แถวบ้านได้เลยครับ หรือใครอยากไปแหล่งที่ถูกก็ไปที่ตลาด “พระเงิน” ได้เลย หรือถ้าใครไม่อยากออกไปไหน กดสั่งในช้อปปี้ หรือลาซาด้า เลยก็ได้นะครับ สำหรับใครที่ชอบอ่านบทความสาระความรู้ด้านเกษตรแบบนี้อย่าลืมกด Like กด Share และกดติดตาม บารมีพิรุณ Plant Factory ผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วยนะครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ ผักอวบขอตัวไปช้อปต้นไม้ฟอกอากาศมาประดับออฟฟิศก่อนนะครับ

Table of Contents

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *