ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราคงเคยเห็นการนำดอกไม้มาประดับจานทั้งจานอาหาร ขนม หรือแม้แต่เครื่องดื่ม ซึ่งบางท่านอาจคิดว่าดอกไม้ที่ถูกนำมาจัดไว้ในจานนั้นเป็นแค่ของตกแต่งที่ทำให้อาหารหรือขนมของเราดูน่ากินมากยิ่งขึ้น แต่รู้หรือไม่ครับว่าดอกไม้เหล่านั้นล้วนเป็นดอกไม้ที่สามารถนำมากินได้ ดังนั้นในบทความนี้ผักอวบจะมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับดอกไม้กินได้ว่าคืออะไร? มีดอกไม้ชนิดใดน่าสนใจบ้าง? รวมถึงนอกจากนำมากินแล้ว เราสามารถนำดอกไม้ไปทำอะไรได้บ้าง เดี๋ยวเราไปดูกันเลยครับ
ดอกไม้กินได้ (Edible Flower) คืออะไร?
เรื่องราวของดอกไม้กินได้ หรือ Edible Flower ไม่ใช่เรื่องที่เกิดเมื่อ 10 หรือ 20 ปีที่แล้ว แต่เกิดมานานนับหมื่นปี แสนปี กันเลยทีเดียวครับ เนื่องจากในอดีตมีการนำพืชชนิดต่าง ๆ มาประกอบอาหารสำหรับมนุษย์นั่นเอง โดยแทบทุกส่วนของพืชสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารได้ ไล่ไปตั้งแต่ใบที่เรานิยมนำมากินกันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนลำต้น เช่น เผือกหรือมันฝรั่ง หรือแม้แต่ส่วนของรากอย่างพวกแครอทหรือพืชตระกูลหัวไช้เท้า แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ว่าสามารถนำมากินได้ นั่นก็คือ ส่วนของดอกที่เรากำลังจะพูดถึงกันนั่นเองครับ
ดอกไม้กินได้ตามนิยามของ Todd Seyfarth นักโภชนาการ เชฟ หัวหน้าภาควิชาโภชนาการและโภชนศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นสันแอนด์เวลส์ คือ “คำว่า กินได้ บ่งบอกว่าดอกไม้นั้นปลูกด้วยวิธีที่ปลอดภัยและสามารถนำมาประกอบอาหารได้ ซึ่งหมายความว่าไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารกันบูดที่ไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ยังหมายความว่าดอกไม้นั้นต้องไม่มีสารประกอบใด ๆ ที่ระบุว่าเป็นอันตรายหรือมีพิษตามธรรมชาติ”
จากคำนิยามข้างต้นทำให้เราสามารถสรุปได้สั้น ๆ ว่า ดอกไม้กินได้ คือ “ดอกไม้ที่เราสามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัย โดยไม่มีการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงและสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์” นั่นเองครับ
นอกจากกินแล้ว เอาไปทำอะไรได้บ้าง?
หลายคนสงสัยว่าแล้วนอกจากการเอาดอกไม้พวกนี้มากินแล้ว เอาไปทำอย่างอื่นได้ไหม? คำตอบ คือ ได้แน่นอนครับ! แถมทำได้หลายอย่างเลยด้วย ผักอวบลิสต์มาให้ 4 ข้อ ดังนี้ครับ
- ใช้ประดับตกแต่ง – ทำได้โดยการนำดอกไม้มาวางเรียงไว้ตามภาชนะต่าง ๆ ซึ่งการวางตกแต่งนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความสวยงามของสถานที่ ยังสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้า หรืออาหารที่นำไว้วางคู่อีกด้วย เห็นได้จากที่ในร้านอาหารหลาย ๆ แห่งเริ่มมีการนำดอกไม้กินได้มาประดับเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วครับ
- ใช้บำบัดสุขภาพ – ดอกไม้บางตัวสามารถนำมาช่วยในการรักษาโรคและอาการต่าง ๆ ได้อย่างน่าฉงน ในงานวิจัยและบทความหลาย ๆ ชิ้น บอกว่าดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม สามารถช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และบำบัดโรคบางโรคได้อีกด้วย ดังนั้นเราจึงเห็นเทียนหอมที่วางขายอยู่ตามตลาด หรือแม้แต่น้ำหอมก็จะมีกลิ่นดอกไม้หลาย ๆ ชนิดด้วยครับ
- ใช้เสริมความงาม – แน่นอนว่านอกจากจะประดับประดาบนร่างกายหรือเสื้อผ้าแล้ว เรายังสามารถสกัดนำสารสำคัญของดอกไม้มาเป็นส่วนประกอบหลักของเครื่องสำอางหรือครีมได้ เนื่องจากดอกไม้บางตัวจะมีสารที่ช่วยฟื้นฟูและดูแลผิวให้ดีนั่นเองครับ
- ใช้ในการทำสีจากธรรมชาติ – ปัจจุบันกระแสการใช้สีที่ได้จากธรรมชาตินั้นมาแรงมาก ๆ เลยครับ โดยเฉพาะการนำดอกไม้ที่มีสีมาสกัดสีออกมา แล้วนำสีที่ได้ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น วาดรูปบนผืนผ้าใบ หรือแม้แต่ย้อมผ้าด้วยสีเหล่านี้นั่นเอง ซึ่งราคาของสีธรรมชาติที่ได้จากดอกไม้ในปัจจุบันนับว่ามีราคาที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสีจากเคมี
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงอยากรู้แล้วสิว่า มีดอกไม้กินได้อะไรที่น่าสนใจบ้าง ตามผักอวบไปดูกันเลย
10 อันดับดอกไม้กินได้ที่น่าสนใจ
10 อันดับของดอกไม้กินได้ที่ผักอวบกำลังจะบอกเป็นดอกไม้ที่ผักอวบนั่งดูข้อมูลจากหลายร้อยดอกไม้ทั่วโลก ดังนั้นจะมีทั้งจากหลากหลายทวีปทั่วโลกเลยครับ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย
1. โบราจ (Borage) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Borago officinalis วงศ์ : Boraginaceae
โบราจ หรือ Starflower เป็นสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดที่ประเทศซีเรีย และกระจายไปทั่วทวีปยุโรป แอฟริกาใต้ และเอเชีย ตัวดอกจะมีลักษณะคล้ายดาวขนาดเล็ก สีของดอกส่วนใหญ่เป็นสีฟ้า แต่อาจเป็นสีขาวหรือสีชมพูก็ได้ ลำต้นสูง 60-100 เซนติเมตร มีขนขึ้นทั่วลำต้นและใบ ดอกโบราจจะมีรสชาติที่ออกหวานเล็กน้อยให้อารมณ์เหมือนเรากำลังนั่งทานน้ำผึ้งหรือแตงกวาอยู่เลยครับ ซึ่งโบราจถูกนำมาใช้ทั้งในด้านการแพทย์แผนโบราณและการประกอบอาหาร ในห้องครัวมีวิธีการนำโบราจมาใช้อย่างไม่ขาดสาย เนื่องจากทั้งดอกและใบรับประทานได้นั่นเอง
2. คาเลนดูลา (Calendula) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calendula officinalis L. วงศ์ : Asteraceae
คาเลนดูลาหรือดาวเรืองหม้อ เป็นไม้ดอกล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกาเหนือ อิหร่าน และทางตอนใต้ของยุโรป ต่อมาได้แพร่กระจายพันธุ์ไปสู่หลาย ๆ ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้อายุ 1 ปี มีลักษณะพุ่มสูง 30-60 เซนติเมตร มีทั้งพันธุ์ต้นเตี้ยและต้นสูง ออกดอกเป็นช่อกระจุกเดี่ยว ตัวดอกมีหลากหลายสีสัน อาทิ ครีม เหลือง และส้ม เป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นอ่อนคล้ายกลิ่นส้ม กลีบดอกมีรสชาติขมเล็กน้อย เป็นดอกไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน และสารอาหารสำคัญหลายตัว อาทิ สารสำคัญอย่าง ลูทีน (Lutein) ที่มีส่วนช่วยในการเร่งการก่อตัวของชั้นผิว เพิ่มความชุ่มชื้น ลดการอักเสบ และสมานแผลนั่นเอง
3. แนสเตอร์เตียม (Nasturtium) ชื่อวิทยศาสตร์ : Tropaeolum majus L. ชื่อวงศ์ : Tropaeolaceae
แนสเตอร์เตียมมีถิ่นกำเนิดใน เม็กซิโก บราซิล โคลอมเบีย และโบลิเวีย เป็นไม้ดอกอายุสั้นหรือหลายปี มีทั้งเจริญเป็นพุ่มและทอดเลื้อย ลำต้นสูง 0.20-1 เมตร ใบมีทั้งสีเขียวและด่างขาว กลีบดอกมีหลากหลายสีทั้งสีขาว ครีม ชมพู เหลือง ส้ม และแดง ตัวดอกมีกลิ่นที่หอมละมุน ใบและดอกของแนสเตอร์เตียมสามารถนำมากินได้ทั้งแบบดิบและสุก ตัวดอกจะมีรสเผ็ดเล็กน้อยแตกต่างจากใบที่จะมีความเผ็ดซ่ามากกว่าครับ
4. กุหลาบ (Rose) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rosa spp. ชื่อวงศ์ : Rosaceae
กุหลาบมีถิ่นกำเนิดอยู่แถวทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือและใต้ กุหลาบเป็นไม้อายุหลายปี ตัวต้นเป็นพุ่มขนาดเล็ก แต่บางชนิดมีขนาดใหญ่หรือเป็นไม้เลื้อย กิ่งก้านมีหนามแหลม ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและออกเป็นช่อ กุหลาบแบ่งเป็น 4 กลุ่มตามลักษณะดอก คือ
- กุหลาบไฮบริดที(Hybrid tea) ที่ให้ดอกเดี่ยวขนาดใหญ่
- กุหลาบฟลอริบันดา(floribunda) หรือกุหลาบพวงออกดอกเป็นช่อจำนวนมาก
- กุหลาบแกรนดิฟลอรา(Grandiflora) หรือกุหลาบพวงก้านยาวดอกใหญ่
- กุหลาบหนู(Miniature) ลักษณะต้นแคระ ดอกเล็ก
รสชาติของดอกกุหลาบจะมีรสฝาด แต่ในความฝาดนั้นแฝงไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูง รวมถึงอุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินบี วิตามินเค แคลเซียม โปแตสเซียม และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้นการนำกุหลาบมากินตามเอ็มวีเพลงเศร้าจึงไม่ใช่เรื่องล้อเล่นแต่อย่างใดครับ
5. ดอกแพนซี่ (Pansy) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Viola tricolor L. ชื่อวงศ์ : Violaceae
ดอกแพนซี่หรือดอกหน้าแมวมีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป มีทั้งที่เป็นไม้ดอกล้มลุกและอายุหลายปี กระจายพันธุ์อยู่ในเขตที่มีอากาศเย็น ลักษณะต้นเป็นพุ่มสูง 15-30 เซนติเมตร ดอกออกตามซอกใบ 1-2 ดอก กลีบดอก 5 กลีบ มีหลากสีสันมีทั้ง ดอกสีขาว เหลือง ชมพู ม่วง แดง ดำ และหลายสีในดอกเดียวกัน หากอยู่ใกล้จะรู้สึกถึงกลิ่นหอมอ่อน ๆ ส่วนใหญ่เรานิยมใช้ดอกหน้าแมวเพื่อเพิ่มสีสันในจานสลัดผัก ตกแต่งจานอาหาร หรือนำดอกมาทับอัดแห้งแล้วเคลือบด้วยไข่ขาว โรยน้ำตาลไอซิ่ง จะได้ดอกที่มีสีสันใช้ในการตกแต่งหน้าเค้กครับ
6. ดอกคาโมมายล์ (Chamomile) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chamaemelum nobile L. ชื่อวงศ์ : Asteraceae
คาโมมายมีถิ่นกำเนิดในยุโรปตะวันตก เป็นไม้ดอกอายุ 2 ปี ต้นเป็นพุ่มสูง 20-40 เซนติเมตร ลำต้นเล็กทอดเลื้อย ทุกส่วนของต้นมีกลิ่นหอม ช่อดอกออกที่ปลายยอด กลีบดอกวงนอกมีสีขาว ดอกย่อยตรงกลางมีสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอมคล้ายแอปเปิ้ล คาโมมายล์มี 2 ชนิด คือ โรมันคาโมมายล์ (Chamaemelum nobile L.) และเยอรมันคาโมมาย (Matricaria chamomilla) ซึ่งทั้งสองมีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยในการคลายกังวล ลดการอักเสบที่ผิวหนัง จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยา อาหาร เครื่องสำอาง และน้ำหอม
7. ลิ้นมังกร (Baby Snapdragon) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Antirrhinum majus L. ชื่อวงศ์ : Plantaginaceae
ดอกลิ้นมังกรหรือดอกไลนาเรีย มีถิ่นกำเนิดมาจากเม็กซิโก อังกฤษและประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน เป็นไม้ดอกอายุ 1 ปี ชอบอากาศเย็นลักษณะต้นเป็นพุ่มสูง 15-90 เซนติเมตร ชอบอากาศเย็น ดอกออกเป็นแบบช่อดอกแบบช่อกระจุกออกที่ปลายยอด ในลักษณะที่ชูตั้งขึ้น ช่อมีความยาว 15-30 เซนติเมตร มีหลากหลายสีและหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งต้นสูง ต้นเตี้ย ดอกมีลักษณะที่ต่างกัน 3 แบบ คือ
- ดอกมาตรฐาน กลีบบนกลีบล่างแยกกันคล้ายปาก
- ดอกแบบผีเสื้อ กลีบดอกชั้นเดียว 5 กลีบ รูปถ้วยตื้น
- ดอกแบบอาซาเลีย คล้ายดอกแบบผีเสื้อแต่กลีบดอกช้อน
ด้วยสีสันที่หลากหลายและสวยงามจึงนิยมนำมาตกแต่งจานอาหารให้ดูน่ากินมากยิ่งขึ้น ผักอวบขอหมายเหตุนิดนึงนะครับว่าลิ้นมังกรนี้เป็นคนละตัวกับต้นลิ้นมังกรที่ฟอกอากาศนะครับ ตัวนั้นชื่อสามัญ คือ Snake Plant ครับ
8. เดซี่ (Daisy) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Erigeron karvinskianus DC. ชื่อวงศ์ : Asteraceae
เดซี่มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปยุโรป และตะวันออกกลาง เป็นไม้ดอกอายุหลายปี ลำต้นทอดเลื้อยยาว 30-80 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว กึ่งกลางดอกสีจะออกเหลือง เป็นดอกไม้ที่สื่อถึงความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา เป็นตัวแทนความรักอันซื่อสัตย์และภักดี นอกจากความหมายที่ดีของดอกเดซี่แล้ว สรรพคุณก็มีไม่น้อยเลย ทั้งช่วยขับปัสสาวะ บำรุงสายตา และในด้านความงามก็มีการนำสารสกัดจากดอกเดซี่มาใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากสารสกัดจากดอกเดซี่มีความสามารถในการยับยั้งการผลิตเอนไซม์ Tyrosinase ที่ผิวหนัง ซึ่งเอนไซม์ตัวนี้จะทำให้ผิวหนังผลิตเม็ดสีที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสีผิวอื่น ๆ ตามมาครับ
9. แววมยุรา (Torenia) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Torenia fournieri Lind. ex Fourn. ชื่อวงศ์ : Scrophulariaceae
แววมรุยามีถิ่นกำเนิดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ดอกอายุ 1 ปี ต้นเป็นพุ่มเล็กๆ สูง 15-50 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อดอกแบบช่อกระจะสั้นที่ปลายกิ่ง ลักษณะดอกเป็นรูปแตร ดอกมีหลากหลายสี เช่น ขาว ชมพู เหลือง ส้ม ม่วง และแดง หรือมีสองสีในดอกเดียวกัน ด้วยสีสันที่หลากหลายจึงเป็นที่นิยมในการนำมาตกแต่งจานอาหาร และตกแต่งหน้าเค้กให้มีความโดดเด่นขึ้นมานั่นเองครับ
10. ลาเวนเดอร์ (English Lavender) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lavandula angustifolia Mill. & hybrid ชื่อวงศ์ : Lamiaceae
ลาเวนเดอร์มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นไม้ดอกอายุหลายปี ต้นเป็นพุ่มสูง 1-2 เมตร ทุกส่วนมีขนปกคลุมและมีกลิ่นหอม ช่อดอกเป็นช่อเชิงลดออกที่ปลายยอด มีใบประดับขนาดใหญ่รองรับดอกย่อยซึ่งอยู่ภายใน ตัวดอกมีสีม่วง ซึ่งดอกลาเวนเดอร์มีสรรพคุณช่วยในการย่อยอาหารและลดความวิตกกังวล รวมถึงถูกนำมาทำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่หลากหลาย เช่น ขนมอบ น้ำเชื่อม เหล้า ชาสมุนไพร เครื่องเทศแห้ง และส่วนผสมสมุนไพรครับ
สำหรับใครที่อยากรู้ว่าแล้วนอกจาก 10 ตัวนี้มีดอกไม้อะไรกินได้อีกบ้างคลิก Link ด้านล่างได้เลยครับ
ภาษาอังกฤษ – https://whatscookingamerica.net/edibleflowers/edibleflowersmain.htm
วิธีปลูกดอกไม้กินได้
ใบหัวข้อนี้ผักอวบจะขอแบ่งออกเป็น 2 แบบนะครับ คือ การปลูกแบบธรรมดาโดยใช้ดินปลูก และการปลูกในโรงงานผลิตพืชเพื่อเพิ่มสารสำคัญ เราไปดูการปลูกแบบแรกกันก่อนเลย
ปลูกดิน (Soil Culture) – ผักอวบขอแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
- การเพาะเมล็ด – วัสดุการเพาะเมล็ดเราสามารใช้ดินหรือพีทมอส ผสมกับขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 1:1 (พีทมอสจะดีกว่าดินในเรื่องของการเจริญเติบโตและสารอาหารที่มีอยู่แล้ว แต่จะแตกต่างเรื่องราคา ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการปลูก) จากนั้นคลุกให้เข้ากันแล้วนำกระบะเพาะในเป็นรูปแบบได้ก็ได้ ถ้าเป็นกระบะพลาสติกให้นำกระดาษหนังสือพิมพ์รองพื้นเอาไว้แล้วเจาะรูบางส่วนเอาไว้เพื่อระบายน้ำหรือถ้าเป็นกระบะหลุมก็ใส่วัสดุปลูกให้พอเต็มหลุม เมื่อกรอกวัสดุปลูกเสร็จแล้วให้รดน้ำ เพื่อให้วัสดุปลูกจับตัวกัน แล้วนำเมล็ดดอกไม้มาเพาะไว้ เมื่อวางเมล็ดเสร็จแล้วให้นำถุงพลาสติกใสมาคลุมกระบะเพาะเอาไว้ ซึ่งเป็นการควบแน่นเมล็ดให้เมล็ดงอกง่ายขึ้นครับ
- การย้ายปลูก – เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นอ่อนจนชนถุงพลาสติกแล้วให้นำต้นออกมา เพื่อที่จะทำการย้ายปลูกไปสู่ภาชนะที่ใหญ่ขึ้น ผักอวบแนะนำว่าให้ใช้เป็นถุงดำเพาะต้นไม้หรือเพาะกล้า โดยส่วนผสมนั้นใช้พีทมอสหรือดินเพาะปลูกกับขุยมะพร้าวตามเดิมได้เลย เริ่มขั้ยตอนโดยการให้นำวัสดุปลูกกรอกไปในถุงดำเพาะต้นไม้ในปริมาณ ¾ ของถุงดำ แล้วนำต้นอ่อนย้ายเข้ามาสู้ถุงดำโดยพยายามอย่าให้รากขาด เมื่อใส่ต้นอ่อนลงไปแล้วให้รดน้ำไม่ต้องชุ่มมาก ควรวางไว้ในที่มีแสงแดดพอสมควร ส่วนในเรื่องการให้ปุ๋ยหลังย้ายปลูกไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ ควรรดยูเรีย (46-0-0) เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตได้มากขึ้น หลังจากนั้นอีก 2-3 สัปดาห์ สามารถเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยละลายช้าออสโมโค้ท (13-13-13) หรือเป็นสูตรเสมอ (15-15-15) ซึ่งการให้ปุ๋ยนั้นผักอวบแนะนำว่าควรให้ในเวลาช่วงเย็น ที่แดดไม่แรงมากครับ
- การย้ายเข้ากระถางปลูก – เมื่อไม้ดอกที่ปลูกนั้นเริ่มผลิดอกออกมาแล้ว ให้เราทำการตรวจสอบขนาดของดอกหากต้องการให้ดอกมีขนาดใหญ่ขึ้นเราสามารถย้ายจากถุงดำเข้าสู่กระถางปลูกได้ โดยกระถางปลูกสามารถใช้เป็นกระถางพลาสติกสีดำ กระถางปูน หรือกระถางดินเผา ตามความเหมาะสมได้ เมื่อย้ายกระถางแล้วสำหรับไม้ดอกควรวางพื้นด้วยแกลบมะพร้าวจะสามารถเร่งการเจริญเติบโตได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถระบายน้ำที่ดี วัสดุปลูกควรใช้เป็นดินปลูกมากกว่าพีทมอสเพราะเมื่อต้นใหญ่แล้วรากก็ต้องการที่ยึดเกาะมากขึ้นการใช้ดินจะดีกว่าพีทมอส การรดน้ำยิ่งมีดอกบานหรือผลิดอกออกจากต้นยิ่งไม่ควรรดน้ำมาก เพื่อป้องกันไม่ให้ดอกช้ำหรือใบช้ำ อย่างไรก็ตามพืชแต่ละสายพันธุ์จะมีการดูแลรักษาที่ต่างกัน ดังนั้นเราต้องรู้ว่าดอกไม้แต่ละชนิดชอบสภาพแวดล้อมแบบไหนก่อนที่จะปลูกจะดีที่สุดครับ
ปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) ในระบบ Plant Factory – มี 3 ขั้นตอนเช่นเดียวกันครับ คือ
- การเพาะเมล็ด – วัสดุที่ใช้ในการปลูกจะใช้ฟองน้ำเป็นหลัก เริ่มต้นด้วยการนำฟองน้ำมาวางไว้บนถาดแล้วเทน้ำ จากนั้นกดฟองน้ำให้ชุ่ม แล้วนำเมล็ดไปวางไว้บนหลุมต่าง ๆ ตามช่องฟองน้ำ ฟองน้ำที่ชุ่มจะเพิ่มความชื้นให้กับเมล็ด เมล็ดจะสามารถงอกได้ง่ายขึ้น เมื่อวางเมล็ดแล้วนำถาดมาปิดไว้เพื่อกันแสงเข้าและเพื่อเป็นการบ่มเมล็ดไปในตัวครับ
- การย้ายต้นกล้า – เมื่อเมล็ดงอกออกมาจนเป็นต้นกล้าแล้วให้ย้ายเข้าโรงเพาะปลูกโดยปุ๋ยที่ใช้เป็นปุ๋ย A และ B การวัดค่า EC (Electrical Conductivity) สำหรับการย้ายต้นกล้าในช่วงแรกควรใช้ค่า EC อ่อน ๆ เพื่อป้องกันการช็อคของพืชครับ
- การย้ายต้นพืช – เมื่อต้นเริ่มผลิใบจริงหลายคู่แล้วให้เพิ่มค่า EC ขึ้น ซึ่งเมื่อต้นพืชได้รับความเข้มข้นของปุ๋ยที่มากขึ้นจะทำให้ต้นพืชเริ่มผลิตดอกออกมามากขึ้น โดยการให้ปุ๋ยนั้นขึ้นอยู่กับชนิดแต่ละดอกไม้ด้วยว่าต้องการเท่าไหร่ โดยส่วนใหญ่แล้ววิธีการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ในระบบ Plant Factory ใช้รากในการดูดซึมปุ๋ยและการหายใจเป็นหลัก
ในส่วนของการเพิ่มสารสำคัญของพืชมีหลักการง่าย ๆ คือ การทำให้พืชเครียด ซึ่งใน Plant Factory เราสามารถปรับสภาพแวดล้อมให้พืชเกิดความเครียดแบบอ่อน ๆ ได้ ซึ่งความเครียดของพืชที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต (Abiotic stress) จะทำให้ดอกไม้เหล่านี้สร้างสารสำคัญออกมาในปริมาณมากเลยครับ แต่ไม่ใช่ทำให้เครียดมากแล้วจะดีนะครับ ถ้าพืชเครียดมากแล้วไม่สามารถปรับตัวได้พืชก็จะตายลงในที่สุด
ก่อนจะจบบทความเรื่อง “ดอกไม้กินได้” ผักอวบอยากจะเน้นย้ำกันอีกรอบนะครับว่า ไม่ใช่ว่าดอกไม้ทุกตัวจะสามารถกินได้ หรือถึงแม้จะกินได้ก็ต้องดูแหล่งปลูกให้ดีนะครับว่าดอกไม้ที่มาจากแหล่งนั่นปลอดภัยจริง ๆ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีอันตรายในการปลูก สำหรับท่านใดที่สนใจดอกไม้กินได้ที่ปลอดภัย สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่หน้า Shop หรือคลิก link ด้านล่างได้เลยนะครับ สำหรับใครที่ชอบอ่านบทความสาระความรู้ด้านเกษตรแบบนี้อย่าลืมกด Like กด Share และกดติดตาม บารมีพิรุณ Plant Factory ผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วยนะครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ ผักอวบขอตัวไปตัดดอกไม้กินได้มาตกแต่งเค้กเป็นอาหารว่างตอนบ่ายนะครับ บ๊ายบายยย