“เสียงเพลง” กับการเจริญเติบโตของพืช

เสียงเพลงกับการเจริญเติบโตของพืช บารมีพิรุณ Plant Factory

บทนำ

เคยสงสัยกันไหมว่า “เสียงเพลง” มีผลอย่างไรต่อพืช? เพลงช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้มากขึ้นไหม? ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจในแวดวงวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ทำให้มีผลการทดลองและวิจัยใหม่ ๆ ออกมามากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ชี้ไปในทิศทางที่ว่า พืชมีรสนิยมทางดนตรีที่เฉพาะเจาะจงเช่นเดียวกับมนุษย์ ดนตรีบางประเภทจะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่ดนตรีบางประเภทอาจสร้างความเสียหายได้ ยกตัวอย่างเช่น กุหลาบเป็นพืชที่ชื่นชอบเสียงไวโอลินเป็นพิเศษ หรืออย่างพืชทั่วไปจะชื่นชอบดนตรีคลาสสิกและแจ๊สเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น บารมีพิรุณ Plant Factory จึงได้ทำการทดลอง เรื่องเสียงเพลงกับการเจริญเติบโตของพืชขึ้นมา เดี๋ยวเราไปดูกันเลยดีกว่า

 

เสียง และ เสียงเพลง คือ อะไร?

ก่อนที่เราจะไปดูผลการทดลอง ผักอวบอยากขออธิบายเรื่องเสียงให้ทุกคนเข้าใจก่อนนะครับ

เสียง จัดเป็นคลื่นชนิดหนึ่งที่ใช้พลังงานและจำเป็นต้องผ่านตัวกลางในการเคลื่อนที่ เช่น น้ำ อากาศ วัตถุ สิ่งของทั่วไป หรือแม้แต่ มนุษย์เองก็ตาม โดยเสียงนั้นมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้แตกต่างกัน เช่น อุณหภูมิ ระยะทาง หรือตัวกลางในการผ่านของคลื่นเสียง โดยหน่วยวัดระดับการได้ยินของเสียง คือ เดซิเบล (dB) ซึ่งตามปกติแล้วมนุษย์เรามีระดับความปลอดภัยต่อการได้ยิน อยู่ที่ประมาณ 70-80 เดซิเบล ถ้าเกินกว่านี้ จะก่อให้อันตรายต่อหูของเรานั่นเองครับ ซึ่งเราสามารถดูระดับความดังของเสียงได้ตามรูปด้านล่างเลย

เสียงเพลงกับการเจริญเติบโตของพืช บารมีพิรุณ Plant Factory

 

เอ… แล้ว เสียงเพลง ล่ะ คืออะไร?

เสียงเพลง คือ คลื่นเสียงที่มีความหลากหลายในช่วงคลื่นเดียวกัน โดยแหล่งกำเนิดเสียงเพลงนั้นสามารถออกมาจากหลายแหล่งกำเนิด เช่น เครื่องดนตรี การขับร้องโดยมนุษย์หรือเสียงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยรูปแบบเพลงที่ใช้กันจะแบ่งตามจังหวะของเพลง ซึ่งมีมากมายหลายแบบ ได้แก่ ป็อบ (Pop), ร็อค (Rock), คลาสสิก (Classic), แจ๊ส (Jazz), ฮิบฮ็อป (Hip hop), ริทึมแอนด์บลูส์ (R&B), อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic), เทคโน (Techno) และ อะคาเปลลา (A cappella)

 

การทดลองเสียงเพลงกับการเจริญเติบโตของพืช

หลังจากที่เราเข้าใจเรื่องเสียงเพลงกันแล้ว เรามาเริ่มทดลองกันเลยดีกว่า

ในการทดลองนี้ ผักอวบจะทำการเปิดเพลง 3 ประเภท ได้แก่ เพลงร็อค เพลงคลาสสิก และ เพลงอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่เคลใบหยิกเพื่อดูว่า เพลงทั้ง 3 ประเภท จะส่งผลอย่างไรต่อการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของเคลใบหยิก โดยที่เลือกเพลง 3 ประเภทนี้เนื่องจากสามารถแยกแยะความต่างในความหนักของจังหวะและความเร็วของจังหวะของแต่ละประเภทเพลงได้ จำแนกได้ดังนี้

  1. เพลงร็อค – เป็นเพลงที่มีจังหวะหนัก เครื่องดนตรีที่ใช้จะเป็น กีตาร์ เบส กลอง มีความเร็วของจังหวะอยู่ที่ 110 – 140 BPM เพลงที่เลือกจะเป็นเพลงร็อคไทยของวงอย่าง Silly Fools, Ebola, Retrospect, Big ass และ Loso
  2. เพลงคลาสสิค – เป็นเพลงที่มีจังหวะสบาย ๆ ฟังแล้วเคลิบเคลิ้ม เครื่องดนตรีที่ใช้จะเป็น เปียโน ไวโอลิน เชลโล และอื่น ๆ มีความเร็วของจังหวะอยู่ที่ 90 – 120 BPM โดยผักอวบได้เลือกเพลงของ Wolfgang Amadeus Mozart มาครับ
  3. เพลงอิเล็กทรอนิกส์ – บางคนเรียกเพลงตื๊ด ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสายแดนซ์โดยเฉพาะ เน้นเสียงเบสที่หนัก มีความเร็วของจังหวะอยู่ที่ 120+++ BPM ผักอวบเลือกมาประมาณ 7 เพลง ซึ่งได้ถูกนำมา Remix เป็นเพลง EDM นั่นเอง เดี๋ยวแปะลิงค์เพลงไว้ด้านล่างสุดนะครับ

เริ่มขั้นตอนแรกเราจะทำการเพาะเมล็ดเคลใบหยิกลงบนแผ่นฟองน้ำแบ่งตามประเภทของเพลง รวมทั้งหมด 4 ฟองน้ำ คือ

  1. ฟองน้ำควบคุม (ไม่เปิดเพลง) – เริ่มทดลอง 1 – 9 เมษายน 2565
  2. ฟองน้ำที่เปิดเพลงประเภทร็อค – เริ่มทดลอง 10 – 18 เมษายน 2565
  3. ฟองน้ำที่เปิดเพลงประเภทคลาสสิค – เริ่มทดลอง 19 – 27 เมษายน 2565
  4. ฟองน้ำที่เปิดเพลงอิเล็กทรอนิกส์ – เริ่มทดลอง 28 – 6 พฤษภาคม 2565

ในการทดลองจะทดสอบเปิดเพลงประเภทต่าง ๆ เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในช่วงการให้แสง โดยกำหนดให้ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอื่น อย่างอุณหภูมิ ความชื้น ธาตุอาหาร ระยะเวลาการให้แสง และความเข้มแสงคงที่เท่ากันทุกการทดลอง เราไปดูผลการทดลองกันเลยดีกว่า

  • ฟองน้ำควบคุม (ไม่เปิดเพลง)

เสียงเพลงกับการเจริญเติบโตของพืช บารมีพิรุณ Plant Factory

 

  • ฟองน้ำที่เปิดเพลงร็อค

เสียงเพลงกับการเจริญเติบโตของพืช บารมีพิรุณ Plant Factory

 

  • ฟองน้ำที่เปิดเพลงคลาสสิค

เสียงเพลงกับการเจริญเติบโตของพืช บารมีพิรุณ Plant Factory

 

  • ฟองน้ำที่เปิดเพลงอิเล็กทรอนิกส์

เสียงเพลงกับการเจริญเติบโตของพืช บารมีพิรุณ Plant Factory

 

สรุปผลการทดลอง

จากรูปด้านบนทั้ง 4 รูปเราสามารถสรุปได้ดังนี้ คือ เสียงเพลงประเภทต่าง ๆ อาจส่งผลต่ออัตราการงอกของเมล็ด และการเจริญเติบโตของเคลใบหยิก เนื่องจากอัตราการงอกของเมล็ดเมื่อเปิดเพลงประเภทต่าง ๆ มีอัตราที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงลักษณะทางกายภาพของพืชที่มีความแตกต่างกัน ในกรณีที่เราไม่เปิดเพลง ใบเลี้ยงของพืชจะมีลักษณะที่ยังไม่แผ่ออก ลำต้นมีความสูงเฉลี่ยที่ต่ำ ในขณะที่การเปิดเพลงประเภทต่าง ๆ จะช่วยให้ใบเลี้ยงแผ่ออกและลำต้นมีความสูงที่เพิ่มขึ้น โดยเพลงร็อคและคลาสสิคดูจะเหมาะสมกับเคลใบหยิกมากกว่าเพลงประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจาก เพลงอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้ลำต้นพืชดูยืด ดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงข้อสังเกตของผักอวบ ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะต้องมีการทดลองและวิจัยต่อยอดให้ลึกกว่าเดิมอีกครับ

เสียงเพลงกับการเจริญเติบโตของพืช บารมีพิรุณ Plant Factory

 

งานวิจัยด้านเสียงเพลงกับพืชที่น่าสนใจ

มีงานวิจัยหลายชิ้นมากที่ผักอวบอยากจะนำมาให้ทุกคนดูกัน แต่กลัวจะยาวเกินไป ดังนั้นเลยขอคัดมาแค่งานวิจัยที่น่าสนใจนะครับ

  • กลไลการสั่นสะเทือนของเสียงที่มีผลต่อเซลล์พืช (Mishra et al., 2016)

เสียงเพลงกับการเจริญเติบโตของพืช บารมีพิรุณ Plant Factory

 

จากภาพหากเราสังเกตดูจะพบว่า เมื่อได้รับการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงจะทำให้การกิจกรรมของพืชทำงานได้เร็วขึ้น โดยมีผลหลัก ๆ อยู่ 2 จุดด้วยกัน จุดแรกเป็นจุดการขยายตัวของเนื้อเยื่อพืช และ จุดที่สอง คือ การทำงานของแคลเซียมไอออนและโพแทสเซียมไอออนที่มีผลโดยตรงต่อนิวเคลียสพืช ซึ่งทั้งสองจุดนี้จะทำให้พืชมีการทำงานที่เปลี่ยนไป คือ

>>> กระตุ้นการเกิดเอนไซม์และการสังเคราะห์ฮอร์โมนในพืชให้ผลิตมากขึ้น

>>> เพิ่มโปรตีนในเซลล์พืชมากขึ้น

>>> เกิดความเครียดในการตอบสนองโปรตีน

ซึ่งการทำงานที่เปลี่ยนไปเหล่านี้จะส่งผลทำให้ต้นพืชเกิดการเจริญเติบโตหรือยืดตัวนั่นเอง

*** ทั้งนี้ทั้งนั้น การสั่นสะเทือนของเสียงมีผลต่อพืชก็จริง แต่มีผลในปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น น้ำ อากาศ ธาตุอาหาร ความชื้น อุณหภูมิ และปัจจัยอื่น ๆ ***

 

  • ความก้าวหน้าของผลกระทบของคลื่นเสียงที่มีต่อพืช (Journal of Integrative Agriculture., 2014)

ตามรายงานของ Reda Hassanien จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งประเทศจีนในกรุงปักกิ่ง พบว่า คลื่นเสียงช่วยเพิ่มผลผลิตของพริกหวาน แตงกวา มะเขือเทศ ผักโขม ฝ้าย ข้าว และข้าวสาลีอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ แมลงศัตรูพืช เช่น ไรเดอร์ เพลี้ย ราสีเทา โรคใบไหม้ และโรคไวรัสของมะเขือเทศลดลงในสภาวะเรือนกระจก คำถามคือ แล้วเราจะใช้ข้อมูลใหม่นี้ได้อย่างไร?

Hassenien กล่าวว่า “การเพิ่มจำนวนประชากรโลกถือเป็นความท้าทายสำหรับนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในการตรวจสอบความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มการผลิตอาหาร การใช้เทคโนโลยีคลื่นเสียงสามารถเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของพืชได้ หลีกเลี่ยงปัญหามากมายที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุนทางเศรษฐกิจของปุ๋ยเคมีและสารกำจัดวัชพืช”

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับการทดลองนี้ หากใครที่กำลังปลูกพืชอยู่แล้วอยากให้พืชโตได้เร็วขึ้น ลองเปิดเพลงแจ๊สเขาพืชฟังดูสิครับ หวังว่าการทดลองนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะครับ ใครอยากอ่านบทความ งานวิจัยอื่น ๆ คลิกที่นี่ วันนี้ผักอวบขอตัวไปฟังเพลงโมสาร์ทก่อนนะครับ แล้วพบกันใหม่ครับ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก https://pistilsnursery.com/blogs/journal/music-and-plant-growth-heres-what-the-science-says

Link เพลงที่ใช้ในการทดลอง:

เพลงคลาสสิค

https://youtu.be/Rb0UmrCXxVA

https://youtu.be/7JmprpRIsEY

เพลงอิเล็กทรอกนิกส์

https://youtu.be/nMH6AvpHXb8

https://youtu.be/YRmD65vT1oA

Table of Contents

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *