บทนำ
วันนี้ผักอวบหยิบงานวิจัยของบารมีพิรุณตัวหนึ่งที่น่าสนใจมาฝาก เป็นงานวิจัยที่จะทดลองการปลูกผักเกล็ดหิมะในสภาวะที่ทำให้พืชเครียดเพื่อเร่งการออกดอกและดูสรีรวิทยาของพืชอย่างละเอียด แต่ก่อนที่เราไปพูดถึงผลการทดลองผักอวบขออธิบายคร่าว ๆ เกี่ยวกับเรื่องความเครียดของพืช ให้เข้าใจกันก่อนนะครับ
ความเครียดของพืช (Plant Stress) เกิดได้จากปัจจัยภายนอกที่ไม่ได้มาจากตัวพืชเอง ได้แก่ สภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชนั้น ๆ ทำให้พืชมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติไปจากเดิม โดยสภาวะแวดล้อมสามารถแบ่งออกเป็น สภาวะแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต (Abiotic) เช่น น้ำ อุณหภูมิ แสง และ สภาวะแวดล้อมที่มีชีวิต (Biotic) เช่น แมลงศัตรูพืช ซึ่งความเครียดจากสภาวะเหล่านี้จะชักนำให้เกิดอนุมูลอิสระในพืชเกิดเป็น Oxidative Stress ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เซลล์พืชเสียหายและตายในที่สุด ใครอ่านแล้วงงลองดูผังด้านล่างที่ผักอวบทำขึ้นมาได้เลยครับ
แน่นอนว่าพืชก็คล้ายกับคนตรงที่เมื่อเกิดความเครียดก็ต้องหาวิธีมาจัดการกับมัน ดังนั้นพืชแต่ละชนิดจะตอบสนองต่อความเครียดในสภาวะต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดพืชที่สามารถปรับตัวได้ (Adaptation) ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมนั้น ๆ และพืชที่มีความอ่อนไหวง่าย ไม่สามารถปรับตัวได้ (Susceptibility) ก็จะค่อย ๆ ตายไปในที่สุด
ทีนี้มาว่ากันเรื่องของผักเกล็ดหิมะ หรือ Ice Plant ตัวที่เราใช้ทดลองกันบ้าง โดยทั่วไปแล้ว ไอซ์แพล้นท์จัดเป็นพืชทนเค็ม (Halophyte) ดังนั้นการทำให้พืชเครียดโดยใช้ความเค็มจากเกลือ (Salinity) จะค่อนข้างยาก ดังนั้นเราเลยใช้สภาวะแวดล้อมอื่นอย่างเรื่องของอุณหภูมิมาเป็นตัวแปรอิสระในการทดลองนี้ เริ่มตั้งแต่การนำไอซ์แพล้นท์อายุ 20 วันนับจากเพาะเมล็ดมา 2 ต้น ต้นแรกเราปลูกในอุณหภูมิตามปกติ และอีกต้นหนึ่งเราเพิ่มอุณหภูมิขึ้นเพื่อให้ไอซ์แพล้นท์อยู่ในสภาวะเครียด เดี๋ยวเราไปดูผลที่ได้กันเลยว่าจะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
ผลการทดลอง
การทดลองนี้เราแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะ 20 วัน หลังจากเริ่มการทดลอง และ ระยะ 50 วัน หลังจากเริ่มการทดลอง โดยผักอวบขอเรียกไอซ์แพล้นท์ในอุณหภูมิปกติเป็น A และ ไอซ์แพล้นท์ที่เพิ่มอุณหภูมิเป็น B นะครับ ซึ่งหลังจากทดลองผลลัพธ์ที่เราได้ คือ
1. ระยะ 20 วัน หลังการทดลอง
สีของไอซ์แพล้นท์ A เป็นสีเขียวปกติ สีของไอซ์แพล้นท์ B สีเริ่มเข้มขึ้นและใบมีลักษณะที่เล็กกว่าต้น A เล็กน้อย ในขณะที่ความเต่งของใบไม่เปลี่ยนแปลงไป
2. ระยะ 60 วัน หลังการทดลอง
ใบของไอซ์แพล้นท์ A มีความสมบูรณ์ตามปกติ ในขณะที่ไอซ์แพล้นท์ B ใบเล็กลงมากอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงมีช่อดอกโผล่มาเป็นจำนวนมาก รวมถึงออกดอกเพื่อเตรียมขยายพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่น โดยลักษณะดอกของผักเกล็ดหิมะนั้นจะมีดอกเกสรเพศเมียและเพศผู้ในดอกเดียวกันหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ดอกกะเทย (Hermaphrodite) นั่นเอง
เรามาดูรูปดอกไอซ์แพล้นท์กันดีกว่าจะสวยงามแค่ไหน ขอบอกเลยว่าของจริงสวยกว่าในรูปมาก ๆ
สวยไหมล่ะครับ สมฉายาอัญมณีแห่งแอฟริกาใต้จริง ๆ ครับ
สรุป
ไม่เพียงแต่มนุษย์หรือสัตว์เท่านั้นที่เครียดเป็น แต่พืชก็มีความเครียดเหมือนกันครับ โดยพืชทุกชนิดจะมีการจัดการกับความเครียดที่ต่างกันออกไป ในกรณีของไอซ์แพลนท์การที่เราทำให้ผักเกิดความเครียดโดยการเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นมาก จะทำให้พืชมีการปรับตัวโดยการลดขนาดใบ และเพิ่มปริมาณช่อดอกและดอกออกมาเยอะเพื่อทำการขยายพันธุ์ต่อไป เราจึงสามารถสรุปได้ว่าสภาวะเครียด มีส่วนเพิ่มต่อการออกดอกของผักเกล็ดหิมะนั่นเองครับ สำหรับใครที่ยังไม่เคยลองทานผักเกล็ดหิมะ คลิกที่นี่ เพื่อซื้อไปลองได้เลยครับ รับรองโดนใจกันอย่างแน่นอน สำหรับใครที่ชอบบทความแบบนี้อย่าลืมติดตามได้ที่เว็บไซต์บารมีพิรุณนะครับ วันนี้ผักอวบขอตัวไปกินผักเกล็ดหิมะก่อน แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้าครับ