Smart Vertical Farming การเกษตรพลิกโลก

ในบทความก่อน ๆ ผักอวบ มีพูดถึงโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ไปแล้วบ้าง มาวันนี้ ผักอวบ จะพาทุกคนไปดูว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เขานำแนวคิดการทำเกษตรแนวดิ่ง (Vertical Farming) ซึ่งเป็นแนวคิดต้นแบบของ Plant Factory ไปต่อยอดในภาคการเกษตรของแต่ละประเทศถึงขั้นไหนแล้ว โดย ผักอวบ จะพูดถึงประเทศในโซนตะวันตกที่น่าสนใจแล้ววกกลับมาประเทศในแถบตะวันออกโซนบ้านเรานะครับ

 

สหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกานับว่าเป็นประเทศที่มีการนำแนวคิดการเกษตรในรูปแบบของ Vertical Farming ไปประยุกต์ใช้เกือบทั่วประเทศ โดยสหรัฐอเมริกานับว่ามีบทบาทสำคัญในการทำเกษตรแนวดิ่ง เนื่องจากในปี 2019 พบว่ามีฟาร์มแนวตั้งมากกว่า 2,000 แห่งในสหรัฐอเมริกา แต่อย่างไรก็ตาม ฟาร์มมากกว่า 60% เป็นฟาร์มขนาดเล็กในท้องถิ่น โดยบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 3 บริษัท ได้แก่ Aero Farms ใน New Jersey, Plenty Unlimited ใน San Francisco และ Bowery Farming ใน New York นั่นเองครับ บริษัทเหล่านี้ล้วนนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้จนกลายเป็น Smart Vertical Farming ครับ ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ที่บริษัทเหล่านี้ปลูกจะเป็นผักใบเขียวจำพวกผักเคล(คะน้าใบหยิก) ผักกาดหอม ร็อคเก็ต และผักสลัดอื่น ๆ

ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ในปี 2018 มูลค่าตลาดของการทำฟาร์มแนวดิ่งในสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ประมาณ 226 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า(ปี 2026) มีการคาดการณ์มูลค่าตลาดการทำฟาร์มแนวดิ่งไว้มากกว่า 6 เท่า หรือคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์เลยครับ

วีดีโอจาก: https://www.youtube.com/channel/UCnq-4YSUp7RHgZ-TDoYWl2g

 

เยอรมนี

InFarm จากกรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในบริษัทด้านเกษตรกรรมแนวดิ่งที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด พวกเขาระดมทุนได้มากกว่า 170 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายกิจการไปในแนวทางของเกษตรในเขตเมือง (Urban Farm) มากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์หลักของพวกเขาคือมัสตาร์ด ผักสลัด โหระพา ผักใบเขียวและสมุนไพรอื่น ๆ บริษัทมีชื่อเสียงในด้านการใช้คลาวด์ฟาร์ม ซึ่งช่วยให้สามารถติดตาม อัปเกรด และปรับเปลี่ยนระบบได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีนี้ทำให้พวกเขาสามารถเติบโตได้รวดเร็วมาก ตอนนี้พวกเขาผลิตพืชมากกว่า 150,000 ต้นต่อเดือน ซึ่งตัวเลขนี้ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันครับ โดยบริษัทมีแผนที่จะขยายฟาร์มของบริษัทให้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,000,000 ตารางฟุตทั่วยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชียภายในปีค.ศ. 2025 นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่นในเยอรมนีที่น่าสนใจ ได้แก่ ECF Farm ใน Berlin, Agrilution Systems ใน Munich และ Farmers Cut ใน Hamburg ครับ

วีดีโอจาก: https://www.youtube.com/channel/UC2_ABj1RFo9LtAlyEYg6D8A

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ประเทศในตะวันออกกลางอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มมีการทำการเกษตรแนวดิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าประเทศที่ร่ำรวยเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมเกษตรกรรมแนวดิ่งมากขึ้น และประเทศเหล่านี้พร้อมที่จะเข้ายึดครองตลาดในอนาคตแล้วครับ โดยเฉพาะบริษัท Badia Farms เป็นบริษัททำฟาร์มในร่มที่ใหญ่ที่สุดของ UAE ที่มีแผนงานคร่าว ๆ คือ เพื่อลดการใช้น้ำในประเทศและลดการนำเข้าผัก นั่นเป็นเหตุผลที่พวกเขาปลูกผักหลากหลายชนิด เช่น ผักกาดหอม กุ้ยช่าย วาซาบิ และพืชในท้องถิ่นและนอกท้องถิ่นอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่เว้นแม่แต่ผลไม้ โดยพวกเขาผลิตอาหารได้มากกว่า 3.5 ตันต่อวัน และคาดว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกครับ

 

ญี่ปุ่น

ประเทศนี้ไม่พูดถึงคงไม่ได้ โดยการทำฟาร์มแนวตั้งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่น ในปี 2017 จำนวน Plant Factory with Artificial Light (PFALs) สำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่นคือ 186 แห่ง โดยในปี 2019 ญี่ปุ่นได้กลายเป็นผู้นำในจำนวนโรงงานผลิตพืชที่ติดตั้งแสงประดิษฐ์ (PFALs) ที่จำนวนกว่า 200 แห่ง แต่อย่างไรก็ตาม โรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะเพิ่มจำนวน PFAL ให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต รวมถึงส่งเสริมให้กลายเป็น Smart Plant Factory อีกด้วยครับ

บริษัทเกษตรกรรมแนวดิ่งที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นคือ SPREAD พวกเขาเริ่มต้นธุรกิจในปี 2550 โดยบริษัทได้มีการเปิดฟาร์มคาเมโอกะใกล้กับเกียวโต ซึ่งสามารถผลิตหัวผักกาดได้ถึง 21,000 หัวต่อวัน จากนั้น 11 ปีต่อมา พวกเขาเปิดฟาร์มแนวตั้งที่ใช้งานได้เต็มรูปแบบแห่งที่สองชื่อ Techno Farm Keihanna ใกล้กับเมืองนารา โดยใช้ระบบอัตโนมัติแทบทุกขั้นตอนในการดำเนินงาน ทำให้พวกเขาสามารถผลิตผักกาดหอมที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดภัย และอร่อยได้มากถึง 30,000 หัวต่อวัน เพิ่มขึ้นถึงกว่า 50% เลยครับ นอกจากนี้ยังมีบริษัทใหญ่อีกแห่งในญี่ปุ่นคือ Mirai Group ที่มีกำลังการผลิตผักกาดหอมสูงถึง 10,000 หัวในแต่ละวัน

ในปี 2015 มูลค่าตลาดเกษตรอัจฉริยะของญี่ปุ่นอยู่ที่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านเยน (3,000 ล้านบาท) ในขณะที่มีการคาดการณ์ออกมาว่าในปี 2026 มูลค่าในตลาดนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเกือน 5 เท่า ที่ 5 หมื่นล้านเยน (15,000 ล้านบาท) เลยครับ เรียกได้ว่าตามสหรัฐอเมริกาไปแบบไม่ทิ้งห่างเลยครับ

วีดีโอจาก: https://www.youtube.com/channel/UC37_fqMjsY_0R-4mvdK2omg

 

จีน

จุดเริ่มต้นของการทำเกษตรแนวตั้งในจีนเกิดจากปัญหาด้านการผลิตอาหารให้แก่ผู้คนที่มีจำนวนมาก (ประมาณ 17.9% ของประชากรโลก)  ดังนั้นการทำฟาร์มแนวตั้งสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างมาก ซึ่งนอกจากจะสามารถปลูกอาหารเพื่อสุขภาพได้ในปริมาณมากแล้วยังใช้พื้นที่ปลูกน้อยกว่าการทำการเกษตรแบบเดิมหลายเท่าตัวโดยในปี 2017 ในประเทศจีน มีฟาร์มแรวดิ่งเกิดขึ้นกว่า 80 แห่งทั่วประเทศแล้ว โดยบริษัทเหล่านี้ได้ทำการวิจัยและพัฒนาครอบคลุมทั้งหมดตั้งแต่ เมล็ดพันธุ์ ระบบการปลูก การเก็บเกี่ยว จนไปถึงการขนส่งเลยครับ ตัวอย่างเช่น บริษัทอย่าง SananBio และ Noonty ในมณฑลฝูเจี้ยน ที่นอกจากจะมีฟาร์มแนวตั้งเป็นของตัวเองแล้ว ยังให้บริการในการสร้างฟาร์มในต่างประเทศด้วยแสงประดิษฐ์ (LEDs) โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีระดับสูงอื่น ๆ อีกด้วยครับ

Sananbio US

ภาพจาก: www.sananbious.com

เกาหลีใต้

การทำฟาร์มแนวตั้งกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศเกาหลี โดยบริษัทที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้ คือ NextOn และ Farm 8

เริ่มต้นที่ NextOn ที่สร้างฟาร์มแนวตั้งในอุโมงค์ทางหลวงที่ถูกทิ้งร้าง ซึ่งต่อถามได้รับการขนานนามว่าเป็นฟาร์มใต้ภูเขา อุโมงค์แห่งนี้อยู่ห่างจากกรุงโซลไปทางใต้ประมาณ 120 กม. ภายในฟาร์มมีการใช้ไฟ LED และเทคโนโลยีกึ่งอัตโนมัติเพื่อปลูกผักใบเขียวประเภทสลัดครับ

ส่น Farm 8 จะเน้นปลูกพวกต้นอ่อนของผัก ปาปริก้า และผักใบเขียวแบบตะวันตก ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 40 ตันต่อวัน โดยบริษัทนี้มีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 16,500 ตร.ม. เลยครับ ที่สำคัญ คือ พวกเขาได้ร่วมมือกับบริษัทใหญ่อย่าง Samsung, Starbucks, 7Eleven, Subway และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อทำการตลาด

ในปัจจุบัน ขนาดตลาดโดยประมาณของการทำเกษตรอัจฉริยะในเกาหลีมีมูลค่ามากกว่า 5.4 ล้านล้านวอน (1.5 แสนล้านบาท) ซึ่งหากนับแค่ระบบ PFAL อย่างเดียวมีมูลค่าตลาดมากกว่า 20,000 ล้านบาทอีกครับ

 

สิงคโปร์

มาถึงประเทศในอาเซียนแล้วนะครับ เริ่มต้นที่ สิงคโปร์เมืองแห่งการค้า ที่เริ่มมีการทำการเกษตรแนวดิ่งกันมากขึ้น โดยมีบริษัท Sky Greens เป็นบริษัทเกษตรแนวดิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดในสิงคโปร์ โดยมีการผลิตผักหลากหลายชนิดมากกว่า 800 กิโลกรัมทุกวัน พืชส่วนใหญ่เป็นผักใบเขียวแบบดั้งเดิมของเอเชียครับ ในปัจจุบันสิงคโปร์มีฟาร์มแนวตั้งในร่ม (Indoor Vertical Farm) มากกว่า 25 แห่ง โดยมีบริษัทใหญ่ในสิงคโปร์อีกมากมายทั้งแบบ Hybrid หรือ บริษัทที่ใช้ระบบ PFAL ครับ

วีดีโอจาก: https://www.youtube.com/channel/UCnFyFBbyvgonZuDKkEJfEiA

 

ไทย

ประเทศสุดท้ายที่ ผักอวบ อยากนำเสนอ คือ ประเทศไทยของเราเองครับ โดยในตอนนี้เริ่มมีโรงงานผลิตพืชและการทำเกษตรแนวดิ่งเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่ในปัจจุบันมีโรงงานผลิตพืชในเชิงพาณิชย์อยู่ประมาณ 5 บริษัทครับ ซึ่งบารมีพิรุณ Plant Factory เป็นหนึ่งในนั้นด้วยครับ ซึ่งทั้ง 5 แห่งนี้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ต่างกันในการดำเนินการเพาะปลูก อย่างของบารมีพิรุณเองจะมีการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เพื่อสร้าง ideal conditions สำหรับพืชแต่ละตัว เพื่อให้ผลผลิตที่ได้นั้นดีที่สุดนั่นเองครับ นอกเหนือจากในกรุงเทพแล้วยังมีในจังหวัดอื่น เช่น บุรีรัมย์ ที่มีโรงปลูกกัญชาที่ใช้แสงเทียม หรืออย่างของ สวทช.ที่มีการสร้าง Plant Factory เพื่อทำการวิจัยในการปลูกสมุนไพรหรือดอกไม้ครับ

ภาพภายใน Plant Factory – บริษัท บารมีพิรุณ จำกัด

 

นอกจากประเทศที่ ผักอวบ ยกตัวอย่างแล้วยังมีประเทศอื่นที่มีการทำเกษตรแนวดิ่งที่น่าสนใจอีกเยอะเลยครับ ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน ที่มี YesHealth iFarm หรืออย่างฝรั่งเศสที่มีการปลูกพืชกันในตู้คอนเทนเนอร์เลยครับ

อย่าลืมติดตามบทความสาระความรู้ดี ๆ จากผักอวบ นะครับ สำหรับท่านใดที่สนใจพืชผักผลไม้จากโรงงานลิตพืชที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพคลิกที่นี่หรือปุ่มดด้านล่างได้เลยครับ

 

 

Table of Contents

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *