เจาะลึก Superfood สุดยอดอาหารสำหรับยุค New Normal

เจาะลึก Superfood

กระแสอาหารประเภท Superfood กำลังมาแรงอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องด้วยคนเริ่มหันมาใส่ใจกับสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น ยิ่งคนได้เห็นความน่ากลัวของไวรัสที่ระบาดในปัจจุบันทำให้คนตระหนักถึงเรื่องสุขภาพมากขึ้นไปอีก ซึ่งหลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้อาจเคยผ่านหูผ่านตากับคำว่า “Superfood” มาบ้าง หรือ บางคนอาจจะเคยได้ลิ้มลอง Superfood มาแล้วโดยไม่รู้ตัว ซึ่งในบทความนี้เราจะไปเจาะลึกว่าจริง ๆ แล้ว Superfood คืออะไร? และอาหารประเภทใดบ้างที่เข้าข่ายในการเป็น Superfood พร้อมทั้งเหตุผลที่ว่าทำไมเจ้า Superfood ถึงจะกลายมาเป็นอาหารในยุค New Normal กันครับ

Superfood แปลเป็นไทยแบบตรงตัวได้ว่า “สุดยอดอาหาร” ซึ่งเป็นคำศัพท์ใหม่ที่ใช้นิยามอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุและสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ให้แคลอรีที่ต่ำ โดยส่วนใหญ่อาหารที่ถูกจัดว่าเป็น Superfood มักจะเป็นอาหารที่เป็นพืชหรือมาจากพืช(plant-based) แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ที่แน่นอนในการพิจารณาว่าอาหารแบบใดที่นับว่าเป็นและไม่เป็น Superfood แต่สิ่งที่มั่นใจได้อย่างหนึ่ง คือ อาหารที่จะเป็น Superfood ได้นั้นต้องเป็นอาหารที่มีความหนาแน่นของโภชนาการที่สูงมาก ๆ หรือ very high nutritional density ในภาษาอังกฤษนั่นเองครับ

จากที่กล่าวไปข้างต้นในอาหารจำพวก Superfood จะเต็มไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุและสารต้านอนุมูลอิสระ(antioxidants) ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระตัวนี้นับว่าเป็นตัวชูโรงของ Superfood เลยก็ว่าได้ เนื่องจากสารต้านอนุมูลอิสระจะทำหน้าที่ในการเป็นบอดี้การ์ดให้กับร่างกายเรา โดยจะทำการจัดการกับอนุมูลอิสระ(free radicals) ที่พยายามจะสร้างปัญหาให้กับร่างกายเรา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคบางประเภท อาทิ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคทางเดินหายใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคอย่างพาร์กินสัน ซึ่งหากเราดูในแผนภูมิด้านล่างจะพบว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งของคนไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี

อัตราการเสียชีวิตของคนไทย (พ.ศ. 2537 – 2560) จากการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่อประชากร 100,000 คน

ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB)

 

ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่เป็น Superfood นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในยุคนี้นั่นเองครับ ทีนี้เรามาดูกันครับว่าอาหารประเภทใดบ้างที่ถูกจัดว่าเป็นหนึ่งใน Superfood

เบอร์รี่(Berries)

ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่จัดว่าเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์(Flavonoid) จำนวนมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยม โดยเบอร์รี่ที่จัดว่ามีสารเหล่านี้ในปริมาณที่สูงได้แก่ บลูเบอร์รี่(Blueberry) อะไซเบอร์รี่(Acai berry) ราสเบอร์รี่(Raspberry) ทาร์ตเชอร์รี่(Tart cherry) แครนเบอร์รี่(Cranberry) และโกจิเบอร์รี่(Goji berry) นี่อาจเป็นอีกเหตุผลที่เรามักเห็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ไปปรากฎตัวในอาหารประเภทต่าง ๆ นั่นเองครับ

 

เคล(Kale)

เคล หรือ คะน้าใบหยิกมักถูกขนานนามว่าเป็น ราชินีแห่งผักใบเขียว(The queen of green) เนื่องด้วยในผักเคลนั้นอัดแน่นไปด้วยวิตามิน A,C,E,K และ วิตามิน B อีกหลายชนิด รวมถึงยังมีแคโรทีนอยด์ เหล็ก แมกนีเซียมโพแทสเซียมและแคลเซียมจำนวนมาก ซึ่งวิตามินและสารเหล่านี้ยังสามารถพบได้ในผักใบเขียวประเภทอื่น อาทิ สวิสชาร์ด(Swiss chard) ผักโขม(Spinach) และ ผักในตระกูลคอลลาร์ด(Collard greens) โดยผลวิจัยพบว่า ผักเคล 1 ถ้วยสามารถให้วิตามิน K สูงกว่า 680% ของความต้องการต่อวันเลยครับ นอกจากนี้ยังพบว่าผักเคลมีคุณประโยชน์อีกนานับประการเดียวเราค่อยไปขยายความกันในบทความอื่น ดังนั้นผักเคลจึงนับว่าเป็น Superfood ที่แท้จริงเลยครับ

 

ชาเขียว(Green tea)

อ่านไม่ผิดหรอกครับ ชาเขียวที่พวกเราดื่มกันทั่วไปนี่แหละครับถูกจัดว่าเป็น Superfood ประเภทหนึ่งด้วย(ไม่ใช่เศษชาผสมน้ำตาลนะครับ) เนื่องจากชาเขียวมีแคลอรี่ที่ต่ำ ช่วยในเรื่องความชุ่มชื้น และเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระชั้นดีเลย โดยสารคาเทชิน(Catechins) ที่พบมากในชาเขียว เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีศักยภาพตัวหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติด้านการต้านการก่อมะเร็งและระงับการอักเสบ นอกจากนี้ยังพบว่าการดื่มชาเขียวและชาขาวสามารถช่วยลดอาการเครียดลงได้ด้วยครับ

 

แซลมอน(Salmon)

มาถึง Superfood ที่ไม่ได้เป็นพืชบ้างครับ แซลมอนถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในอาหารที่ทรงคุณค่าเนื่องมาจากปริมาณกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่อัดแน่นอยู่ในแซลมอลสามารถลดความเสี่ยงของการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ช่วยลดคอเลสเตอรอลและชะลอการเติบโตของคราบจุลินทรีย์ในหลอดเลือดได้เป็นอย่างดีนั่นเอง ซึ่งนอกจากแซลมอนแล้วยังมีปลาประเภทอื่นที่ถูกจัดว่าเป็น Superfood ด้วย เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาเทราท์ และปลาเฮอริ่ง

 

ดาร์กช็อกโกแลต(Dark chocolate)

ดาร์กช็อกโกแลต หรือ ช็อกโกแลตดำ เป็นอาหารที่ถูกนำไปวิจัยในเชิงของคุณค่าทางโภชนาการอยู่เป็นประจำ โดยผลการวิจัยพบว่าดาร์กช็อกโกแลตมีฟลาโวนอยด์ในปริมาณมาก ซึ่งช่วยในเรื่องของการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ และมะเร็งบางชนิด รวมถึงยังช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วยครับ แต่สิ่งที่เราต้องรู้ คือ ช็อกโกแลตดำมีรสชาติที่เข้มหรือขมมาก ดังนั้นอาจจะเป็น Superfood ที่มีความลำบากในการทานมากที่สุดเลยครับ

 

องุ่นและไวน์(Grapes and wine)

เรสเวอราทรอล (Resveratrol) ซึ่งเป็นโพลีฟีนอล(Polyphenol) ที่พบในไวน์และเปลือกขององุ่นแดง เป็นสารที่ทำให้หัวใจของเราแข็งแรง ซึ่งงานวิจัยบางชิ้นพบว่าสารตัวนี้มีประโยชน์ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ บรรเทาอากาศร้อนวูบวาบและช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากสารตัวนี้แล้วยังมีสารอีกชนิดที่พบมากในองุ่น คือ เควอซิติน(Quercetin) ซึ่งเป็นสารต้านการอักเสบตามธรรมชาติที่ช่วยลดความเสี่ยงของหลอดเลือดและป้องกันความเสียหายที่เกิดจากคอเลสเตอรอลในเลือด และจากการศึกษาในสัตว์สารตัวนี้อาจมีผลในการต่อต้านมะเร็งได้ด้วยครับ

 

นอกจากอาหารที่ผมยกมายังมีอาหารอีกหลายอย่างที่ถูกจัดว่าเป็น Superfood อาทิ สาหร่ายสไปรูลิน่า(Spirulina) สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน(Blue-green algae กระเทียม(Garlic) ขมิ้นชัน(Turmeric) รวมถึงธัญพืชและพืชตระกูลถั่วบางชนิดด้วยครับ

 

บทสรุป

อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจจะคิดว่าอาหารเหล่านี้ก็สามารถหาได้ทั่วไป ไม่เห็นจะดูหมือนสุดยอดอาหารตรงไหนเลย ผมต้องอธิบายเพิ่มเติมครับว่าจริง ๆ แล้วคำว่า “Superfood” เนี่ยถูกสร้างมาเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาดล้วน ๆ โดยอาศัยหลักการคิดแบบเหมารวม หรือ Stereotype ว่าหากเราทานอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบระดับ Superfood เราก็จะได้รับประโยชน์เต็ม ๆ เหมือนเราทานวัตถุดิบนั้นโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าชาเขียวเป็น Superfood เราจึงไปซื้อน้ำชาเขียวตามร้านสะดวกซื้อซึ่งผสมน้ำตาลในปริมาณมหาศาลมาดื่ม เราคิดว่าเราจะได้รับสารต้านอนุมูลอิสระแบบเต็ม ๆ แต่ผลลัพธ์อาจจะตรงกันข้ามกัน เพราะชาเขียวบรรจุขวดบางแบรนด์ใช้ใบชาคุณภาพต่ำห่างไกลจากคำว่า Superfood ไปมาก หรืออย่างผักเคล ไม่ใช่ว่าผักเคลทุกที่จะเป็น Superfood บางคนไม่รู้วิธีปลูกทำให้สารอาหารสำคัญที่ควรจะมีหายไปก็ทำให้เราไม่ได้รับประโยชน์ตรงนั้นไป อีกเรื่องหนึ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Superfood คือ บริโภคยิ่งมากยิ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดอยู่มาก ตามหลักโภชนาการแล้วอาหารทุกประเภทควรกินแต่พอดีและควรกินให้ครบ ไม่ใช่ว่าไวน์กินแล้วดี เป็น Superfood เราก็กินแต่ไวน์อัดไปวันละ 4-5 แก้วทุกวัน ไม่กินอาหารประเภทอื่นเลย แบบนี้เราอาจจะได้โทษมากกว่าประโยชน์นะครับ

หลังจากที่อ่านกันมานานผมว่าหลายคนอาจจะอยากออกไปหา Superfood มาทานกันบ้างแล้วใช่ไหมครับ อย่างไรก็ตามผมอยากฝากทุกคนให้ดูดี ๆ ว่าสิ่งที่เรากำลังจะหามาทานเป็น Superfood จริงไหม หรือเป็นแค่ Superfake ที่เราไม่รู้แหล่งที่มาและขั้นตอนในการผลิตเลย ที่สำคัญต้องระลึกไว้เสมอว่าอาหารทุกอย่างควรบริโภคแต่พอดี ทานให้หลากหลาย ทานให้ครอบคลุม และอย่าลืมว่าการพักผ่อนและการออกกำลังกายก็สำคัญไม่แพ้กันครับ ไว้เจอกันในบทความสุขภาพเรื่องอื่น ๆ ครับ

Source: https://www.livescience.com/34693-superfoods.html
https://www.medicalnewstoday.com/articles/303079#how_to_incorporate_more_superfoods_into_your_diet

ปล.สำหรับใครที่ต้องการทานผักเคล หนึ่งใน Superfood จากแหล่งที่เชื่อถือและไว้ใจได้ คลิกที่ปุ่มด้านล่างได้เลยนะครับ

Table of Contents

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *