Thailand Smart Farming 4.0 เทคโนโลยีการเกษตรสู่อนาคต

Thailand Smart Farming 4.0

หลังจากที่บทความที่แล้ว ผักอวบ มีพูดถึงเรื่อง Smart Vertical Farming ที่มีการยกตัวอย่างการทำเกษตรแนวดิ่งของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไปแล้ว วันนี้จะมาคุยกันเรื่อง Thailand Smart Farming 4.0 กันบ้างครับ โดยจะเจาะลึกแค่ในประเทศไทยเราว่าก่อนจะมาเป็น Smart Farm ประเทศไทยเรามีวิวัฒนาการด้านการเกษตรเป็นอย่างไร และในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีด้านใดมาใช้ในการเกษตรบ้านเราบ้างครับ

 

วิวัฒนาการด้านการเกษตรของประเทศไทย

ภาคเกษตรกรรมนับว่ามีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งทรัพยากรการผลิตและการจ้างงานที่สำคัญของประเทศ โดยพื้นที่เพาะปลูกของประเทศไทยมีสูงถึง 149 ล้านไร่(ข้อมูลปี 2563) หรือคิดเป็น 46.42% จากพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ 321 ล้านไร่ น่าเสียดายที่การวิจัยและพัฒนาในภาคการเกษตรของประเทศไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเติบโตได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศเปิดใหม่อย่างจีนหรือเวียดนาม ทำให้ภาคการเกษตรบ้านเรายังเป็นการทำเกษตรแบบเก่าอยู่ แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับการทำเกษตรเผยแพร่ออกมามากมาย ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นโอกาสของคนไทยที่จะนำเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรบ้านเรา แต่ก่อนที่เราจะพูดถึงว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นมีอะไรบ้าง เราจะมาพูดถึงวิวัฒนาการของเกษตรกรตั้งแต่ 1.0 – 4.0 กันก่อนครับ

 

เกษตรกร 1.0 – การเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Agriculture)

วิวัฒนาการด้านการเกษตรของประเทศไทยจากอดีตที่มุ่งเน้นใช้แรงงานในภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือร่วมใจของเกษตรกรในการปลูกข้าว ลงแรงดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว หรือการใช้แรงงานจากสัตว์ในการไถนา จะเป็นภาพที่บ่งบอกถึงการเกษตรดั้งเดิมตามชนบทได้เป็นอย่างดี ซึ่งการทำการเกษตรในยุคดังกล่าวยังต้องต่อสู้กับสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจอย่าง สภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศที่ไม่เป็นใจ มลภาวะต่าง ๆ และยังต้องเจอกับปัญหาด้านราคาพืชผลที่ผันผวน อีกทั้งงานวิจัยหรือความรู้ในการทำการเกษตรยังมีไม่แพร่หลายมากนัก จุดเริ่มต้นของการเกษตร 1.0 จะตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 และ 6 ของไทยเราครับ

 

เกษตรกร 2.0 – การเกษตรแบบประยุกต์เครื่องจักรเบา (Light Machinery)

หลังจากการเข้ามาของยุคอุตสาหกรรม ประเทศไทยเราเริ่มมีการพัฒนาประเทศโดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมเบา โดยในภาคการเกษตรเองเริ่มมีการแบ่งเบาภาระการผลิต มีการลดแรงงานทั้งคนและสัตว์ลง เริ่มมีการใช้ปุ๋ยเคมีในกระบวนการผลิต มีการนำรถไถหรือเครื่องฉีดพ่น มาเปลี่ยนวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมมีการปลูกพืชที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นจากแต่ก่อนที่ปลูกข้าวเป็นหลัก เริ่มมีการปลูกพืชอุตสาหกรรมอย่าง มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปอ และยางพารามากยิ่งขึ้น

 

เกษตรกร 3.0 – การเกษตรแบบประยุกต์เครื่องจักรหนัก (Heavy Machinery)

ในยุคนี้มีการปรับเปลี่ยนจากเครื่องจักรเบามาเน้นเครื่องจักรกลที่มีราคาสูงแต่มีกำลังการผลิตสูง เพื่อให้ได้กำไรจากผลผลิตเพิ่มมากขึ้น มีการใช้รถปลูกข้าวแทนแรงงานคน มีการจัดทำโรงเรือนระบบปิดเพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เริ่มมีการควบคุมกระบวนการผลิตทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ

 

เกษตรกร 4.0 – การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture)

ในปัจจุบันภาครัฐได้มีการสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ควบคุมการผลิตในทุกกระบวนการ โดยเริ่มตั้งแต่การผลิตจนถึงช่องทางการจัดจำหน่าย มีการเผยแพร่ความรู้ จัดอบรม สัมมนาผู้ประกอบการทางการเกษตร และเกษตรกรโดยตรง เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ในการทำการเกษตรให้เข้าถึงมากขึ้น โดยในปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในบางองค์กร อาทิ โรงงานผลิตพืชของ สวทช. หรือ ภาคเอกชน ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงงานไม่ว่าจะเป็น แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น แร่ธาตุอาหารต่างๆ และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นปัจจัยหลักในการเจริญเติบโตของพื้นได้ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้การเจริญเติบโตของพืชเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้และมีอัตราผลผลิตที่ควบคุมได้ซึ่งก็คือโรงงานผลิตพืช Plant Factory ซึ่งมีต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยโรงการผลิตพืชนี้สามารถเพิ่มคุณภาพของพีชเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตได้

Thailand Smart Farming 4.0

 

ข้อเท็จจริงในภาคการเกษตร

จากข้อเท็จจริง คือ รายได้ของสินค้าเกษตรกลับสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศได้ไม่ถึง 10 % เนื่องจากสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ เน้นการส่งออกในรูปของวัตถุดิบ (Raw Material) เป็นหลัก ซึ่งราคาจะผันผวนตามกลไกของตลาดโลก ทำให้ที่ผ่านมาภาคเกษตรประสบปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ อีกทั้งในการส่งออกนั้น เกษตรกรมิได้เป็นผู้ที่กำหนดราคาเอง แต่เป็นการกำหนดราคาโดยพ่อค้าคนกลาง หรือในกรณีที่สินค้าเกษตรบางตัวมีความต้องการสูงในตลาด เกษตรกรบางกลุ่มก็จะแห่ปลูกจนทำให้สินค้าล้นตลาด ซึ่งตามหลักเศราฐศาสตร์เมื่ออุปทานมากกว่าอุปสงค์จะส่งผลให้สินค้าล้นตลาด ราคาสินค้าจะปรับตัวลดลง ทำให้เกษตรกรขายสินค้าได้ในราคาที่ต่ำ รายได้ที่ได้รับไม่พอเลี้ยงครอบครัว ด้วยเหตุนี้จึงถึงเวลาที่เกษตรกรต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำเกษตรในรูปแบบใหม่นั่นคือ การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรภายใต้การทำเกษตรอัจฉริยะ หรือเกษตร 4.0 นั่นเอง ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐต้องทำงานให้หนักมากขึ้น ต้องส่งเสริมองค์ความรู้ งานวิจัย แนวทางปฏิบัติ และการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง หากหวังให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านเกษตร

 

เทคโนโลยีการเกษตรที่น่าสนใจ

ในส่วนนี้ผักอวบจะนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจในการทำเกษตรแบบ 4.0 ในประเทศไทยกันครับ

 

Vertical Farming (Plant Factory)

การปลูกพืชแนวดิ่งในเขตเมือง หรือการทำโรงงานผลิตพืชกำลังเป็นกระแสที่น่าจับตามองทั่วโลก โดยหลักการสำคัญในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ คือ การปลูกพืชมูลค่าสูงหรือคุณค่าสูง รอบเก็บเกี่ยวสั้น ภายในเขตเมือง โดยการควบคุมสภาพแวดล้อมที่สำคัญในการเจริญเติบโตของพืชชนิดต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ที่สุด อาทิ แสงหรือธาตุอาหาร ตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้นบทความ เพื่อกระจายอาหารให้เข้าสู่เมืองให้ไวที่สุดเพื่อรักษาความสดและคุณค่าทางสารอาหาร แต่ข้อจำกัดของเทคโนโลยีนี้ คือ การลงทุนเริ่มต้นที่สูง แต่ในอนาคตสัก 3-4 ปีข้างหน้า ผักอวบว่าการลงทุนเริ่มต้นมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมากเลยครับ

Thailand Smart Farming 4.0

 

Farm Automation

การทำฟาร์ม(เกษตร)อัตโนมัติ เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ฟาร์มหรือพื้นที่ทำการเกษตรของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำให้วงจรการผลิตพืชผลหรือปศุสัตว์เป็นแบบอัตโนมัติ โดยในปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากที่วิจัยและพัฒนาในเรื่องของระบบอัตโนมัติ (Automation) โดยเริ่มมีการประยุกต์ใช้ในโดรน รถแทรกเตอร์ รถเกี่ยวข้าว การชลประทาน(Irrigation) และหุ่นยนต์เพาะเมล็ด แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะค่อนข้างใหม่ แต่ตอนนี้เริ่มมีเกษตรกรในประเทศไทยเรามีการนำมาใช้ในการทำเกษตรแล้วนะครับ โดยเป้าหมายหลักของเทคโนโลยีระบบฟาร์มอัตโนมัติ คือ การที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องลงแรงไปเพาะเมล็ด ไปเก็บเกี่ยวในแปลงเองอีกต่อไปแล้ว แต่จะอาศัยระบบอัตโนมัติที่ควบคุมได้ทั้งระยะใกล้และไกล ซึ่งเทคโนโลยีนี้ผักอวบมองว่าสำคัญกับการเกษตรบ้านเรา เนื่องจากอัตราการลดลงของแรงงานในภาคการเกษตรนั้นมีเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอายุของแรงงานในภาคการเกษตรกลับมีแต่สูงขึ้นทุก ๆ วัน เด็กรุ่นใหม่เริ่มไม่สนใจในการเกษตร ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเข้ามาแก้ปัญหาได้ตรงจุดเพราะไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากอีกต่อไปครับ

วีดีโอจาก: https://www.youtube.com/watch?v=4qrlFse5I1U&t=22s&ab_channel=CNBC

 

Precision Agriculture

การเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) เป็นกระแสในบ้านเราช่วงปี 2560-2562 ที่ผ่านมาอยุ่พักหนึ่ง ซึ่งการเกษตรแม่นยำนี้ คือ การนำเทคโนโลยีมาผสมผสานเพื่อการทำการเกษตร ซึ่งการเกษตรแม่นยำนี้จะเกี่ยวข้องกับคำศัพท์ใหม่ ๆ อย่าง Internet of Things (IoT) หรือการทำให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถรับ-ส่งข้อมูลหากันได้เองผ่านตัวเซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้ แล้วทำการเก็บข้อมูลบนเซิฟเวอร์หรือในระบบ Cloud ก็ได้ครับ ส่งผลให้เราสามารถเก็บข้อมูลได้ในปริมาณมหาศาล (Big Data) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เราสามารถนำมาวิเคราะห์และนำผลที่ได้กลับมาปรับปรุงการทำเกษตรของเราให้ดียิ่งขึ้นไปอีกได้ ซึ่งในปัจจุบันมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ Big Data เหล่านั้นด้วยครับ โดยเจ้า AI เนี่ยมันมีความสามารถที่เรียกว่า Machine Learning และ Deep Learning อยู่ครับ ซึ่งเดี๋ยวไว้เราไปขยายความเพิ่มเติมในอีกบทความครับ แต่ตอนนี้ให้รู้ไว้ว่าเจ้า AI เนี่ยมันมีความสามารถในการเรียนรู้ชุดข้อมูลต่าง ๆ เช่น เราให้มันดูรูปผักหลาย ๆ ชนิด จนมันสามารถแยกได้ว่า ถ้าผลเป็นทรงรี มีเม็ดสีเหลือง ๆ กระจายอยู่ทั่ว เรียกว่า “ข้าวโพด” แบบนี้เป็นต้นครับ ดังนั้นการเกษตรแม่นยำผมว่าควรจะเป็นวาระแห่งชาติเลย เพราะใช้ต้นทุนไม่สูงเท่าเทคโนโลยี 2 แบบแรกนั่นเอง


วีดีโอจาก: https://www.youtube.com/watch?v=WhAfZhFxHTs&ab_channel=GeospatialWorld

 

3 เทคโนโลยีนี้ผักอวบมองว่าเหมาะกับประเทศไทยเราในช่วงต้น เพื่อที่จะทำให้เกษตรกรค่อย ๆ เปลี่ยนจาก 1.0 2.0 3.0 มาเป็น 4.0 ควรเริ่มจากอะไรที่ไม่ซับซ้อนก่อนครับ ส่วนพวกเทคโนโลยีอย่าง Blockchain หรือปัญญาประดิษฐ์ผมว่ารอเวลาอีกไม่นานเกษตรกรบ้านเราน่าจะพร้อมลุยแล้วครับ ซึ่งตอนนี้บารมีพิรุณเราได้มีการนำเทคโนโลยีที่กล่าวมา มาประยุกต์ใช้แทบทั้งหมดเลยครับ เรามีทีมวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรโดยตรง เรามีการเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์เพื่อทำให้ระบบเรากลายเป็นเกษตรแม่นยำครับ ดังนั้นหากใครสนใจอุดหนุนผลผลิตของเรา คลิกที่นี่ หรือปุ่มด้านล่างได้เลยนะครับ

 

Table of Contents

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *