หลายคนคงเคยผ่านหูผ่านตากับคำว่า “สารต้านอนุมูลอิสระ” กันมาบ้างตามโฆษณาวิตามิน ครีมทาผิว หรืออาหารเสริม แต่รู้หรือไม่ครับว่าเจ้าสารต้านอนุมูลอิสระแท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่ มีประโยชน์ต่อร่างกายเรายังไง ทำไมหลายแบรนด์ทั้งในไทยและต่างประเทศจึงยกคำนี้มาใช้โฆษณา เดี๋ยวผักอวบจะพาทุกคนไปรู้จักกับสารต้านอนุมูลอิสระให้มากยิ่งขึ้นนะครับ แต่ก่อนที่เราจะไปรู้จักสารต้านอนุมูลอิสระ เราไปดูกันก่อนดีกว่าว่า “อนุมูลอิสระ” คืออะไร
“อนุมูลอิสระ” วายร้ายที่ทำลายความหนุ่มสาวของเรา
อนุมูลอิสระ (Free Radical) คือ อะตอมหรือโมเลกุล ที่มีอิเล็กตรอนไม่เป็นคู่ (Unpaired Electron) อย่างน้อย 1 ตัวโคจรรอบวงนอกสุด ส่งผลให้อะตอมหรือโมเลกุลเหล่านั้นเกิดความไม่เสถียรขึ้น ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดมันเลยต้องไปแย่งจับอิเล็คตรอนของเซลล์อื่นในร่างกายเพื่อให้ครบคู่ ทำให้ร่างกายของเราผิดเพี้ยน ขาดความสมดุล ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมามากมาย แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากที่โมเลกุลข้างเคียงสูญเสียอิเล็กตรอนไป โมเลกุลเหล่านั้นก็จะกลายเป็นอนุมูลอิสระตัวใหม่ที่ไม่เสถียรและเข้าทำปฏิกิริยากับโมเลกุลอื่นต่อไปเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (Chain Reaction) นั่นเอง น่ากลัวกว่าแชร์ลูกโซ่อีกนะครับเนี่ย แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าเจ้าอนุมฺลอิสระนี้จะมีแต่โทษเพียงอย่างเดียว เพราะในบางครั้งอนุมูลอิสระเหล่านี้ก็มีหน้าที่คอยทำลายสิ่งแปลกปลอม ซึ่งบางทีก็มีประโยชน์เหมือนกัน
อนุมูลอิสระมาจากไหน?
ต้องอธิบายก่อนว่าอนุมูลอิสระสามารถมาได้จาก 2 แหล่ง คือ
- แหล่งภายใน คือ อนุมูลอิสระที่ร่างกายของเราสร้างขึ้น เช่น ในกรณีที่เราแก่ตัวลง เกิดความเครียด หรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ
- แหล่งภายนอก คือ อนุมูลอิสระที่แฝงอยู่ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา เช่น แสงแดด ความร้อน มลพิษจากฝุ่น ควันบุหรี่ แอลกอฮอล์ ยาฆ่าแมลง อาหารแปรรูปที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว
อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจจะตกใจ เพราะสิ่งที่ผักอวบพูดมาข้างต้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยในชีวิตประจำวัน แบบนี้ร่างกายเราคงเต็มไปด้วยอนุมูลอิสระแล้วสินะ คำตอบก็คือ “ใช่ครับ” แต่ธรรมชาติก็ไม่ได้โหดร้ายกับคนเรามากนัก เพราะเมื่อมีวายร้ายก็ต้องมีพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย ซึ่งพระเอกที่ว่าก็คือ “สารต้านอนุมูลอิสระ” นั่นเองครับ
“สารต้านอนุมูลอิสระ” พระเอกที่จะช่วยคืนความหนุ่มสาวให้พวกเรา
สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) คือ สารที่จะมาทำปฏิกิริยากับอนุมูลอิสระ โดยจะเข้าไปป้องกันหรือแย่งที่จับกับอนุมูลอิสระ และนำเจ้าวายร้านอนุมูลอิสระเหล่านั้นไปทิ้งนอกเซลล์ ทำให้เซลล์ไม่ถูกทำลายนั่นเองครับ ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระมาได้จาก 2 ส่วน คือ
- ร่างกายของเราสร้างขึ้นมาเอง โดยการผลิตเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant enzymes) ให้ไปจับกับอนุมูลอิสระ เพื่อที่จะควบคุมอนุมูลอิสระให้อยู่ในปริมาณที่สมดุล เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าอนุมูลอิสระไม่ได้มีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียว หากมันอยู่ในภาวะที่สมดุลก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้รับสารพิษจากภายนอก อนุมูลอิสระจะเกิดการสะสมและพร้อมที่จะกลายเป็นภัยต่อร่างกายเราในทันที ซึ่งเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายของเราผลิตก็มักจะไม่เพียงพอ ทำให้ในท้ายที่สุดเซลล์ก็เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นได้ และยิ่งเมื่อคนเราอายุมากขึ้นการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระก็มีแต่จะลดลง ในขณะที่ปริมาณอนุมูลอิสระยังคงเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นจากแหล่งภายนอก ผลที่ตามมาคือการเกิดโรคต่าง ๆ มากมายในคนสูงวัยนั่นเอง ดังนั้นเราจึงต้องพึ่งสารต้านอนุมูลอิสระในส่วนที่สองครับ
- การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากอาหารที่เรากิน โดยส่วนใหญ่สารต้านอนุมูลอิสระจะพบได้มากในอาหารประเภทผักผลไม้ ธัญพืช และเนื้อปลาบางชนิด แน่นอนว่าสารต้านอนุมูลอิสระมีอยู่เป็นล้านชนิด แต่ที่พวกเรารู้จักกันก็คงจะเป็น วิตามินเอ ซี และอี เบต้าแคโรทีน หรือฟลาโวนอยด์นั่นเอง ซึ่งในส่วนนี้ยังแยกย่อยได้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ และสารต้านอนุมูลอิสระที่สังเคราะห์ขึ้นในอาหารเสริมต่าง ๆ ครับ
แน่นอนว่าสารต้านอนุมูลอิสระแต่ละตัวจะมีหน้าที่ที่ต่างกัน ซึ่งเราสามารถแบ่งสารต้านอนุมูลอิสระออกเป็น 3 ประเภท ตามกลไกการยับยั้ง ได้แก่
- Preventive antioxidant – ป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ
- Scavenging antioxidant – ทำลายหรือยับยั้งอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น
- Chain breaking antioxidant – ทำให้ลูกโซ่ของการเกิดอนุมูลอิสระสิ้นสุดลง หรือการช่วยชะลอการเกิด “ออกซิเดชั่น” ซึ่งเป็นตัวทำให้เราแก่เร็ว ริ้วรอยมากขึ้น และเจ็บป่วยได้ง่าย
กลไกของสารต้านอนุมูลอิสระ
สารต้านอนุมูลอิสระเมื่อร่างกายได้รับเข้าไปแล้ว จะไปยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation Reaction) ในร่างกาย ซึ่งปฏิกิริยาออกซิเดชันนี้มีผลให้เกิด “ภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (Oxidative stress)” การเกิด Oxidative stress นั้นถ้าเกิดน้อยจะไม่ส่งผลหรือให้โทษต่อร่างกาย แต่ถ้าเกิดการสะสมมากของ Oxidative stress ก็จะเกิดผลเสียต่อร่างกายได้ โดย Oxidative stress แบ่งการเกิดเป็น 4 ชนิดหลัก ได้แก่
- เกิดที่ส่วนสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) , โรคพาร์คินสัน (Parkinson) และ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- เกิดที่ส่วนปอด เช่น โรคหอบหืด (Asthma) และ ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension หรือ PH)
- เกิดที่ส่วนหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง (Hypertension) , ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) และ ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)
- เกิดที่ส่วนไต เช่น โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะหรือนิ่วในไต (Urolithiasis) และ โรคไตที่มาจากเบาหวาน (Diabetic Nephropathy)
พูดง่าย ๆ ก็คือ หากร่างกายเราได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเข้าไป ร่างกายของเราจะเกิดการปรับสมดุลไม่ให้เกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชัน ทำให้เกิดการสะสมของโรคร้ายต่าง ๆ ลดลง ดังนั้นสารต้านอนุมูลอิสระจึงสำคัญต่อร่างกายมาก ๆ นั่นเองครับ
สารต้านอนุมูลอิสระที่ควรรู้จัก
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า Antioxidant เนี่ยมีหลายชนิดมาก ๆ นอกจากสารพื้นฐานอย่างพวกวิตามินเอ ซี อี หรือฟลาโวนอยด์ ผักอวบอยากจะนำเสนออีก 5 ตัวที่สำคัญมาก ๆ คือ
- เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) – จัดเป็นลิพิด (lipid) หรือสารชีวโมเลกุล ที่ไม่ละลายในน้ำแต่ละลายในไขมัน มีรงควัตถุที่ให้ทั้งสีแดง สีส้มและสีเหลือง พบมากในผักที่มีสีสัน ตามหลักการแล้วร่างกายเมื่อได้รับเบต้าแคโรทีนแล้วจะเปลี่ยนไปเป็นวิตามิน เอ ทันที เบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอันดับต้น ๆ ที่มีความสำคัญมาก เพราะเบต้าแคโรทีนจะช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ร่างกายของเราให้ดีขึ้น เช่น ต้านแสง UV, บำรุงการทำงานของปอด, บำรุงสายตา, ลดความเสี่ยงในการเกิดเซลล์มะเร็ง โดยผักผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีนสูง เช่น ผักคะน้าและเคล, แครอท, แคนตาลูป, บล็อกโคลี่, มะเขือเทศ และ พาสเล่ย์ครับ
- เมลาโทนิน (Melatonin) – เป็นฮอร์โมนจากสมองที่ถูกสั่งจากต่อมไพเนียลอีกทีหนึ่ง เมลาโทนินนั้นเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในมนุษย์อยู่แล้ว โดยฮอร์โมนนี้จะหลั่งออกมาในช่วงกลางคืน ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมมนุษย์เราถึงง่วงนอนและหลับในช่วงกลางคืน พอเป็นเวลากลางวันเมลาโทนินจะไม่ค่อยหลั่งออกมาก็เป็นเหตุผลอีกว่าทำไมมนุษย์ถึงไม่ง่วงในช่วงเวลากลางวัน ส่วนความสำคัญของเมลาโทนินที่นับเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ คือ ถ้ามีระดับเมลาโทนินร่างกายปกติ จะช่วยเรื่อง อาการนอนไม่หลับ อาการนอนผิดเวลา และอาการเจ็ทแล็ค (เป็นอาการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับเวลาที่เปลี่ยนไปเมื่อเราไปอีกประเทศหนึ่ง) โดยเมลาโทนินนั้นสามารถเพิ่มได้โดยการกินอาหารจำพวกปลา ไข่ และเชอรี่ครับ
- กรดแอลฟา-ไลโพอิก (Alpha-Lipoic Acid) – หรือกรดไลโพอิกเป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์มากพอสมควร โดยความเฉพาะตัวของกรดไลโพอิกก็คือสามารถละลายได้ทั้งน้ำและน้ำมัน ความสำคัญของกรดไลโพอิกที่ดีต่อมนุษย์ เช่น ลดระดับน้ำตาลในเลือด, ลดการอักเสบจากแผลหรือกล้ามเนื้อ, ช่วยชะลอความแก่, เสริมสร้างระบบประสาทในสมอง และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ส่วนอาหารที่พบกรดไลโพอิกจะพบในเนื้อแดง เช่น ตับ หัวใจ ส่วนในผักพบใน บล็อกโคลี่ คะน้า เคล มะเขือเทศ มันฝรั่ง ถั่วเขียว
- ไลโคปีน (Lycopene) – เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีความสำคัญในเรื่องของผิวพรรณ ลักษณะทั่วไปเป็นของแข็ง โครงสร้างเคมีของไลโคปีนไม่มีอะตอมออกซิเจน ไลโคปีนช่วยในเรื่องแก้ปัญหาโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น เซลล์มะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ และ อัลไซเมอร์ ส่วนเรื่องผิวพรรณช่วงป้องกันแสง UV ได้ดีมาก เมื่อได้รับ 8-16 มิลลิกรัมต่อวัน ช่วยลดรอยแดงของผิวหนังได้ถึง 50% โดยพบมากสุดใน มะเขือเทศทุกพันธุ์ ฝรั่ง มะละกอ
- กลูตาไธโอน (Glutathione) – เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นกรดอะมิโนหลาย ๆ ตัวที่รวมกันเป็นโปรตีน โดยสามารถสังเคราะห์ในร่างกายได้เอง กลูตาไธโอนมีกรดอะมิโนสามชนิดที่ประกอบด้วยกัน มี กลูตาเมต (Glutamate) ซีสเตอีน (Cysteine) และ ไกลซีน (Glycine) ความสำคัญของกลูตาไธโอน คือ ช่วยเรื่องการทำงานของ DNA ในร่างกาย, สนับสนุนระบบภูมิคุ้มกัน, เสริมสร้างวิตามินอีและเคมากขึ้น และรักษานิ่วในถุงน้ำดี ผักและผลไม้ที่พบกลูตาไธโอน ได้แก่ อะโวคาโด บล็อกโคลี่ หน่อไม้ฝรั่ง ส้ม สตอรว์เบอร์รี่ แตงโม องุ่น
สารต้านอนุมูลอิสระปลอดภัย 100% ไหม?
ผักอวบต้องบอกว่าสารต้านอนุมูลอิสระนั้นปลอดภัยแน่นอน 100% หากเราได้รับในปริมาณที่พอดี เพราะผักอวบมักพูดเสมอว่าการกินอาหารที่ถูกต้องตามหลัก คือ กินแต่พอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และที่สำคัญ คือ การกินอาหารที่เป็นอาหารจริง ๆ ดีกว่าการกินอาหารเสริมแน่นอนครับ
อธิบายง่าย ๆ แบบนี้ครับ ผักและผลไม้ส่วนใหญ่เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูงและมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยมีหลักฐานยืนยันว่าการรับประทานผักและผลไม้มาก ๆ เป็นผลดีต่อสุขภาพและยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลายชนิด แตกต่างจากสารต้านอนุมูลอิสระที่สังเคราะห์ขึ้นในอาหารเสริม ที่ผลจากการวิจัยส่วนใหญ่พบว่าอาจไม่มีส่วนช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง อย่าง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือมะเร็ง ซึ่งสาเหตุที่นักวิจัยตั้งสมมติฐานไว้ คือ ประโยชน์ของสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในผักหรือผลไม้นั้นอาจมีสารและปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวข้อง เช่น ไฟเบอร์ หรือเป็นไปได้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระที่สังเคราะห์ขึ้นมีความแตกต่างจากสารต้านอนุมูลอิสระที่มีในธรรมชาตินั่นเองครับ ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องรอการพิสูจน์กันต่อไปครับ
สรุป
สารต้านอนุมูลอิสระเป็นพระเอกที่จะมาช่วยให้ร่างกายเราเกิดสมดุล โดยการเข้าไปต่อสู้กับอนุมูลอิสระที่มาจากสารพิษต่าง ๆ ที่เราได้รับมาในชีวิตประจำวัน ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระนี้มาได้จาก 2 ส่วน คือ ร่างกายของเราสร้างขึ้นเอง และการรับประทานอาหารจำพวก ผักผลไม้ ธัญพืช และ เนื้อปลาบางชนิด โดยสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ๆ ได้แก่ วิตามินเอ ซี อี แบต้าแคโรทีน เมลาโทนิน ฟลาโวนอยด์ ไลโคปีน ฯลฯอ่านบทความนี้จบแล้วรีบไปหาผักผลไม้มาเสริม Antioxidant ให้กับร่างกายกันดีกว่าครับ
ผักที่บารมีพิรุณของเราปลูกเป็นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงมาก เพราะเราได้ทำการวิจัยอย่างเข้มข้นเพื่อให้ได้สารอาหารที่เป็นประโยชน์กับทุกท่าน รวมถึงผักที่เราปลูกส่วนใหญ่เป็นผัก Superfood และ ผักหายาก ดังนั้นหากท่านใดสนผักสดเสริม Antioxidant คลิกที่นี่ หรือ link ด้านล่างได้เลยนะครับ ถ้าชอบบทความสาระความรู้ด้านเกษตรแบบนี้อย่าลืมกด Like กด Share และกดติดตาม บารมีพิรุณ Plant Factory ผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วยนะครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ